Ad Code

บทบาทและอำนาจหน้าที่ของ “นายกเทศมนตรี” และ “สมาชิกสภาเทศบาล”

 


หน้าที่ของนายกเทศมนตรี

มาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2543 ได้กำหนดไว้ ดังนี้

(1) กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมายและรับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาล ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และเทศบัญญัติ

(2) สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการของเทศบาล

(3) แต่งตั้งและถอดถอนรองนายกเทศมนตรี เลขานุการนายกเทศมนตรี และที่ปรึกษานายกเทศมนตรี

(4) วางระเบียบเพื่อให้งานของเทศบาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

(5) รักษาการให้เป็นไปตามเทศบัญญัติ

(6) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น

ลักษณะการใช้อำนาจของนายกเทศมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงนี้แตกต่างจากการใช้อำนาจของนายกเทศมนตรีในรูปแบบที่ใช้ร่วมกันของคณะเทศมนตรีในสมัยก่อน กล่าวคือ นายกเทศมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงมีลักษณะการใช้อำนาจที่เด็ดขาดกว่า และเป็นผู้ใช้อำนาจแต่เพียงคนเดียว ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจร่วมกับรองนายกเทศมนตรี


หน้าที่ของสภาเทศบาล

หน้าที่ของสภาเทศบาลที่สำคัญ ได้แก่

(1) หน้าที่ในการออกเทศบัญญัติ

(2) หน้าที่ในการสะท้อนความต้องการของประชาชนในเขตเทศบาล

(3) หน้าที่ในการตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายบริหาร


หน้าที่ประการแรก คือ หน้าที่ในการพิจารณา กลั่นกรอง และอนุมัติเทศบัญญัติต่างๆ ว่าควรบังคับใช้ในเขตเทศบาลหรือไม่ อย่างไร หน้าที่ในประการนี้ถูกกำหนดไว้ในมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2543 ที่กำหนดว่า “เทศบาลมีอำนาจตราเทศบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อบทกฎหมาย…”

หน้าที่ประการที่สอง คือ หน้าที่ในการสะท้อนความต้องการของประชาชนในพื้นที่ อันเป็นหน้าที่โดยทั่วไปของผู้แทนประชาชน เช่น รับฟังปัญหา ความต้องการ ความเดือดร้อน ตลอดจนข้อเรียกร้องหรือร้องเรียนต่างๆ ของประชาชนในเทศบาล แล้วนำข้อเรียกร้องหรือร้องเรียนเหล่านั้น เสนอต่อฝ่ายบริหาร หากบางเรื่องอยู่เกินขอบเขตอำนาจที่เทศบาลจะดำเนินการได้ สมาชิกสภาเทศบาลก็จะทำหน้าที่ในการประสานไปยังหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป

การดำเนินการเพื่อให้ฝ่ายบริหารกระทำตามข้อเรียกร้องของตนนั้น อาจกระทำได้ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการ เช่น การทำหนังสือยื่นแสดงปัญหาของประชาชนในเทศบาลผ่านไปยังนายกเทศมนตรี หรือกระทำในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ เช่น การเป็นผู้นำเพื่อหารือและเสนอข้อร้องเรียนต่อผู้บริหารโดยตรงโดยมีประชาชนเป็นผู้มีส่วนร่วมในวาระโอกาสต่างๆ เช่น ในระหว่างการพบปะระหว่างผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาล และประชาชนเพื่อการจัดทำแผนพัฒนาเทศบาล ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำในทุกๆ ปี เป็นต้น

และหน้าที่ในประการสุดท้าย คือ หน้าที่ในการตรวจสอบและถ่วงดุลการทำงานของฝ่ายบริหาร ซึ่งสภาเทศบาลมีวิธีการในการตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างน้อย 3 วิธีได้แก่

(1) การตั้งกระทู้ถามฝ่ายบริหาร เพื่อให้ฝ่ายบริหารตอบกระทู้ที่ตนเห็นว่าเป็นปัญหาและให้ฝ่ายบริหารชี้แจงข้อเท็จจริงหรือแนวทางเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2546

(2) การตรวจสอบการทำงานโดยคณะกรรมการสามัญและวิสามัญของสภาเทศบาล คณะกรรมการสามัญและวิสามัญของสภาเทศบาล มีหน้าที่หลักในการกระทำกิจการใดๆ ตามที่สภามอบหมายให้ดำเนินการ เช่น สืบสวน สอบสวนข้อเท็จจริง ศึกษาถึงความเป็นไปได้ หรือลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่เทศบาล เป็นต้น และเมื่อได้ดำเนินการไปเช่นไร กรรมการดังกล่าวต้องรายงานผลการดำเนินงานนั้นให้สภาเทศบาลรับทราบด้วย

(3) การเสนอเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติในเขตเทศบาล ซึ่งกฎหมายได้เปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นมีสิทธิเข้ามาช่วยฝ่ายบริหารตัดสินใจในประเด็นที่สำคัญต่อเทศบาลได้ง่ายขึ้น ซึ่งการให้ความเห็นของประชาชนนี้จะสามารถกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับการเสนอจากสมาชิกสภาเทศบาลเสียก่อน


ความสัมพันธ์ระหว่างนายกเทศมนตรีกับสภาเทศบาล

(1) นายกเทศมนตรีและรองนายกเทศมนตรีจะต้องไม่เป็นสมาชิกสภาเทศบาล

(2) รองนายกเทศมนตรีมาจากการแต่งตั้งของนายกเทศมนตรี

(3) สภาเทศบาลไม่ได้ทำหน้าที่ในการเลือกฝ่ายบริหาร เพราะประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งนายกเทศมนตรีโดยตรง

(4) การดำรงอยู่ของนายกเทศมนตรี ไม่ขึ้นอยู่กับสภาเทศบาล

(5) ในกรณีการรับหลักการหรือไม่รับหลักการแห่งร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีของเทศบาลนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องตั้งคณะกรรมการ จำนวน 15 คน เพื่อพิจารณาหาข้อยุติความขัดแย้ง โดยแก้ไข ปรับปรุง และยืนยันสาระสำคัญในร่างเทศบัญญัตินั้น เมื่อสภาเทศบาลได้รับร่างเทศบัญญัติฉบับที่ได้รับการแก้ไข ปรับปรุงตามกระบวนดังกล่าวจากฝ่ายของนายกเทศมนตรีแล้ว ให้สภาเทศบาลพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากสภาเทศบาลพิจารณาไม่แล้วเสร็จ หรือไม่เห็นชอบกับร่างเทศบัญญัติดังกล่าว ให้ร่างเทศบัญญัตินั้นตกไป แล้วให้ใช้เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปีที่แล้วไปพลางก่อน และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้มีคำสั่งยุบสภาเทศบาล

นอกจากนี้กฎหมายยังได้เปิดโอกาสให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยุบสภาเทศบาลได้ รวมถึงให้นายกเทศมนตรีพ้นจากตำแหน่งได้อีกด้วย

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น

Close Menu