Ad Code

ประเภทของคดีอาญา

 


การแบ่งประเภทคดีอาญานั้นพิจารณาจากอำนาจในการดำเนินคดีอาญา ซึ่งพิจารณาจากผู้เสียหายเป็นสำคัญ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทดังนี้ 


1) คดีอาญาความผิดอันยอมความได้ 

ความผิดอันยอมความได้ หรือความผิดต่อส่วนตัว  หมายถึงคดีอาญาประเภทซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อเอกชนคนหนึ่งคนใดเป็นส่วนตัว มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือสังคมเป็นและความผิดใดจะเป็นความผิด อาญาอันยอมความได้นั้น กฎหมายจะต้องระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ เช่น ความผิดฐานยักยอก ฉ้อโกง หมิ่นประมาท ทำให้เสียทรัพย์ อนาจาร ข่มขืนกระทำชำเรา ออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงิน เป็นต้น 

ความผิดอาญาอันยอมความได้นี้เจ้าพนักงานของรัฐจะดำเนินคดีได้ก็ต่อเมื่อผู้ เสียหายร้องทุกข์ (แจ้งความ) ต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมายเสียก่อน และต้องร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด สำหรับคดีความผิดอันยอมความได้นี้ หากผู้เสียหายไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาต่อไป ก็สามารถถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความได้ ซึ่งก็จะเป็นผลให้คดีดังกล่าวระงับไป 

2) คดีอาญาความผิดอาญาอันยอมความไม่ได้ 

ความผิดอาญาอันยอมความไม่ได้ หรือความผิดอาญาแผ่นดิน  หมายถึงคดีอาญาประเภทที่นอกจากจะทำให้เกิดความ เสียหายแก่ผู้เสียหายโดยตรงแล้ว  ยังก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและสังคมโดยส่วนรวมอีกด้วย ความผิดอาญานอกจากที่กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นความผิดอันยอมความ ได้แล้ว จะเป็นความผิดอาญาแผ่นดินทั้งสิ้น เช่น  ความผิดฐานลักทรัพย์  วิ่งราวทรัพย์  ชิงทรัพย์  ปล้นทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย  ฆ่าคนอื่น วางเพลิงเผาทรัพย์  ขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  เป็นต้น ซึ่งความผิดอาญาแผ่นดินนี้  แม้ผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ก็ไม่ทำให้คดีอาญานั้นระงับไป รัฐสามารถดำเนินกับคดีกับผู้กระทำผิดต่อไปได้ โดยที่ผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องร้องทุกข์ก่อนแต่อย่างใด และความผิดอันยอมความไม่ได้นี้กฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้มีการไกล่เกลี่ยหรือยอมความกันได้เลย 


คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา  

คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หมายถึง “คดีแพ่งที่ฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีมูลฐานความรับผิดเนื่องมาจากการกระทำความผิดทางอาญา” ซึ่งหมายความว่าการกระทำความผิดอาญาฐานใดฐานหนึ่งแก่ผู้เสียหาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายผู้เสียหายจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำความผิดนั้น เช่น นายแดงขับรถชนนายดำ จนนายดำได้รับบาดเจ็บสาหัส ในคดีอาญานายแดงย่อมมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนในทางแพ่งการที่แดงขับรถชนดำด้วยความประมาทเป็นการละเมิดจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น จะเห็นได้ว่าสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้นมีมูลมาจากการที่นายแดงกระทำความผิดต่อนายดำนั้นเอง 

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น

Close Menu