Ad Code

ข้อควรระวังในการฟ้องคดี


โดยปกติการฟ้องคดีปกครองต่อศาลปกครองกลางจะไม่มีหลักเกณฑ์ ที่ซับซ้อนให้เป็น ภาระแก่ประชาชนผู้ประสงค์จะฟ้องคดี และการดำเนินคดีใน ศาลปกครองกลางก็ค่อนข้างยืดหยุ่น เพื่อให้การแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน มีความถูกต้องและครบถ้วนที่สุดแต่อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติมีปัญหาที่มักเกิดขึ้นและทำให้การฟ้องคดีและการดำเนินคดีในศาลปกครอง ล่าช้าเป็นที่เสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีอยู่หลายประการ ซึ่งผู้ฟ้องคดีควรระมัดระวัง ดังนี้

1. ข้อควรระวังในการจัดทำคำฟ้อง
ด้วยเหตุที่การฟ้องคดีปกครอง ผู้ฟ้องคดีสามารถจัดทำคำฟ้องได้ด้วยตนเอง โดย ไม่จำเป็นต้องให้ทนายความ หรือผู้ที่มีความรู้ทางกฎหมายช่วยจัดทำคำฟ้องให้ ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีที่ ไม่ได้ศึกษาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการฟ้องคดีปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และระเบียบวิธีพิจารณาคดีปกครองที่เกี่ยวข้อง ก็อาจ จัดทำคำฟ้องได้ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด และทำให้ศาลปกครอง กลางไม่อาจรับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณาพิพากษาได้ ซึ่งข้อบกพร่องที่พบบ่อยนั้น มีดังนี้

    1.1 ผู้ฟ้องคดีใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ
ศาลปกครองกลางตระหนักดีว่า ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอาจมีความ รู้สึกคับข้องใจหรือโกรธเคืองหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องแต่ศาล ย่อมไม่อาจรับคำ ฟ้องที่ไม่สุภาพไว้พิจารณาพิพากษาได้ดังนั้น หากคำ ฟ้องใดมีการใช้ ถ้อยคำไม่สุภาพ ศาลก็จะสั่งให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขคำฟ้องนั้นภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด และหาก ผู้ฟ้องคดีไม่ยอมดำเนินการศาลก็มีอำนาจสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

    1.2 ผู้ฟ้องคดีมีคำขอไม่ชัดเจน
คำฟ้องของผู้ฟ้องคดีนอกจากจะต้องระบุรายละเอียดหรือรายการต่างๆ ตามที่กฎหมาย กำหนดไว้แล้ว ยังจะต้องระบุว่า ผู้ฟ้องคดีประสงค์จะขอให้ศาลบังคับต่อหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขหรือ บรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายอย่างไร ด้วย เช่น ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัย หรือขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งปฏิเสธการ ออกโฉนดที่ดิน หรือขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งไม่อนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร หรือขอให้ศาลสั่ง เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง หรือขอให้ศาลสั่งให้กระทรวงคมนาคมจ่ายเงินค่าทดแทน การเวนคืนเพิ่มเติม เป็นต้น เพราะหากผู้ฟ้องคดีมิได้มีคำขอมาด้วยหรือมีแต่ไม่ชัดเจนเพียงพอที่ ศาลจะเข้าใจได้ ศาลก็จะต้องมีหนังสือกลับไปสอบถามผู้ฟ้องคดีอีกครั้งหนึ่งว่า มีความประสงค์จะ ให้ศาลสั่งเช่นใดหากผู้ฟ้องคดีชนะคดี ซึ่งย่อมทำให้เกิดขั้นตอนที่ทำให้คดีปกครองคดีนั้นล่าช้าได้

    1.3 ผู้ฟ้องคดีฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยยังมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนหรือวิธีการ สำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายที่กฎหมายกำหนดเสียก่อนฟ้องคดี
ในการฟ้องคดีปกครองนั้น ผู้ฟ้องคดียังไม่มีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลปกครองในทันทีที่ได้ รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย แต่ผู้ฟ้องคดีจะต้องพิจารณาเสียก่อนว่า มีกฎหมายกำหนดขั้นตอน หรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อน หรือเสียหายในเรื่องนั้นไว้แล้วหรือไม่ หากมีกฎหมาย กำหนดขั้นตอนหรือวิธีการใดๆไว้เป็นการเฉพาะ ผู้ฟ้องคดีจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมาย เฉพาะนั้นกำหนดไว้เสียก่อน เช่น กรณีผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจและได้รับคำสั่งลงโทษทางวินัย จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ฟ้องคดีจะต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อ ก.ตร. ตามที่กฎหมายว่า ด้วยระเบียบข้าราชการตำรวจและกฎหมายว่าด้วยวินัยตำรวจกำหนดไว้เสียก่อน ในทำนองเดียว กันหากเป็นข้าราชการครูและได้รับคำสั่งลงโทษทางวินัยจากสำนักงานประถมศึกษาจังหวัด ก็จะต้อง อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อ อ.ก.ค. จังหวัด ตามที่กฎหมาย ว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูกำหนดไว้ เป็นต้น หรือกรณีที่เป็นเรื่องของการเวนคืนที่ดิน หากผู้ฟ้องคดีถูกเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางหลวง แต่ไม่พอใจจำนวนเงินทดแทนที่ได้รับ ผู้ฟ้องคดีก็จะต้องอุทธรณ์การกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทน ดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสียก่อนตามที่กฎหมายว่าด้วยการเวนคืน อสังหาริมทรัพย์ได้กำหนดไว้และเมื่อทราบผลการพิจารณาอุทธรณ์ในชั้นที่สุดแล้ว หากผู้ฟ้องคดี ยังไม่เห็นด้วย จึงจะมีสิทธินำเรื่องดังกล่าวมาฟ้องต่อ ศาลปกครองต่อไป นอกจากนั้น ในปัจจุบัน แม้จะเป็นกรณีที่มิได้มีกฎหมายเฉพาะกำหนดขั้นตอนการอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองไว้ดังเช่น เรื่องวินัยหรือเรื่องการเวนคืนดังตัวอย่างที่ได้ยกมาแล้วข้างต้น กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครองซึ่งเป็นกฎหมายกลางได้กำหนดบังคับไว้เป็นการทั่วไปว่า คำสั่งทางปกครองที่ไม่มี กฎหมายเฉพาะกำหนดขั้นตอนการอุทธรณ์ไว้ผู้ฟ้องคดีจะต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองที่ตน ไม่พอใจต่อผู้ออกคำสั่งทางปกครองนั้นเอง ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งทาง ปกครองดังกล่าว

ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วหากผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเกิดจากการออก คำสั่งทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ย่อมจะต้องอุทธรณ์คำสั่งทาง ปกครองนั้นก่อนเสมอ มิฉะนั้น จะไม่มีสิทธิ นำเรื่องดังกล่าวมาฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ และ หากยังจะยื่นคำฟ้องนั้นมาศาลก็จะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั้นไว้พิจารณา และจำหน่ายคดีนั้นออก จากสารบบความต่อไป

2. ข้อควรระวังเกี่ยวกับคำฟ้องที่ยื่นฟ้องทางไปรษณีย์
ในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีเดินทางมายื่นฟ้องยังศาลปกครองกลางเจ้าหน้าที่ศาลปกครองฝ่าย
รับฟ้องจะให้คำแนะนำแก่ ผู้ฟ้องคดีอย่างใกล้ชิด จึงไม่ค่อยมีข้อบกพร่องหรือปัญหาใดๆ มากนัก แต่สำหรับกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องคดีโดยส่งคำฟ้องทางไปรษณีย์ลงทะเบียนนั้น ผู้ฟ้องคดีมักจะเสียโอกาสที่จะได้รับการพิจารณาพิพากษาคดีด้วยเหตุต่างๆ ดังต่อไปนี้

    2.1 ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ระบุชื่อผู้ฟ้องคดีในคำฟ้อง หรือใช้นามแฝงหรือฟ้องในนามตัวแทนของ กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยไม่ได้ระบุชื่อตัวชื่อสกุลจริง
คำฟ้องที่มีลักษณะเช่นนี้ย่อมมีลักษณะเป็นบัตรสนเท่ห์ที่สำนักงานศาลปกครองไม่อาจเสนอ ต่อศาลเพื่อพิจารณา พิพากษาให้ได้ เพราะในกรณีเช่นนี้จะไม่มีตัวผู้ฟ้องคดีที่จะชี้แจงและให้ ถ้อยคำแก่ศาล ดังนั้น ศาลย่อมไม่อาจจะพิจารณาได้ว่าความเดือดร้อนหรือเสียหายที่กล่าวอ้างถึงในคำฟ้องนั้นเกิดขึ้นกับผู้ใดหรือไม่และอย่างไร

    2.2 ผู้ฟ้องคดีระบุชื่อของตนมาในคำฟ้อง แต่กลับไม่ได้ระบุที่อยู่มาด้วย
แม้ว่าจะมีปัญหาในกรณีเช่นนี้ ศาลปกครองกลางก็ยังมีความพยายามที่จะรับคำฟ้องเหล่านี้ ไว้พิจารณา โดยให้สำนักงานศาลปกครองขอความอนุเคราะห์ไปยังสำนักงานทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ช่วยตรวจสอบว่า ผู้ฟ้องคดีที่ระบุชื่อมานั้นมีตัวตนจริงหรือไม่ และมี ภูมิลำเนาอยู่ที่ใดและหากได้รับข้อมูลที่พอจะดำเนินการต่อไปได้ ก็จะดำเนินการรับคำฟ้องนั้นไว้ ในสารบบความต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว นอกจากจะทำให้คดีปกครองคดี นั้นล่าช้าแล้ว ข้อมูลเกี่ยวกับภูมิลำเนาที่สอบถามได้ก็อาจจะเป็นภูมิลำเนาเดิมซึ่งไม่อาจใช้ติดต่อกับผู้ฟ้องคดีได้

    2.3 ผู้ฟ้องคดีจ่าหน้าซองถึงศาลปกครองได้ถูกต้อง
แต่ในคำฟ้องหรือจดหมายภายในซองกลับมีรายละเอียดอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
        2.3.1 ระบุว่าเป็นจดหมายถึงหน่วยงานอื่น เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
        2.3.2 ระบุว่าเป็นจดหมายถึงหน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้หลายหน่วยงาน ซึ่งระบุรวม ถึงศาลปกครองด้วย เช่น ระบุว่า "เรียน ปลัดกระทรวงแรงงานฯ, ประธานศาลปกครอง, ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานฯ" เป็นต้น
ในกรณีเช่นนี้สำนักงานศาลปกครองในฐานะผู้รับเรื่องไว้เบื้องต้นย่อมไม่สามารถสรุปได้เองว่า ผู้ฟ้องคดีมีความประสงค์จะฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีหนังสือสอบถาม กลับไปยังผู้ฟ้องคดีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวย่อมทำให้คดีปกครองนั้นล่าช้าได้

    2.4 ผู้ฟ้องคดีมักจะส่งแต่เฉพาะคำฟ้องและพยานหลักฐานฉบับจริงมาเพียงชุดเดียว โดยไม่แนบสำเนาคำฟ้องและพยานหลักฐานมาด้วยเลย
ตามระเบียบวิธีพิจารณาคดีของศาลปกครองผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่ต้องถ่ายสำเนาคำฟ้องและ พยานหลักฐานตามจำนวนผู้ถูกฟ้องคดีแนบมาพร้อมกับคำฟ้องด้วย เช่น หากผู้ฟ้องคดีประสงค์จะฟ้องคดีผู้ว่าราชการจังหวัดและกระทรวงมหาดไทย ผู้ฟ้องคดีจะต้องจัดทำ คำฟ้องและพยานหลักฐานฉบับจริง 1 ชุด สำหรับให้ศาลใช้พิจารณา จากนั้นจะต้องทำสำเนาคำฟ้อง และพยานหลักฐานทั้งหมดนั้นอีก 2 ชุด เพื่อที่ศาลปกครองจะได้ส่งสำเนาดังกล่าวไปให้ แก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดและกระทรวงมหาดไทย ต่อไป ซึ่งตามระเบียบแล้ว ถ้าผู้ฟ้องคดีไม่ได้จัดทำสำเนาดังกล่าวแนบมาด้วย ศาลจะแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีจัดทำสำเนามาให้ภายใน ระยะเวลาที่ศาลกำหนด และหากผู้ฟ้องคดีไม่ยอมดำเนินการ ศาลก็มี อำนาจสั่งไม่รับคำฟ้องไว้ พิจารณาและสั่งจำหน่ายคดีนั้นออกจากสารบบความ

    2.5 ผู้ฟ้องคดีไม่ส่งค่าธรรมเนียมศาลมาพร้อมกับคำฟ้องหรือส่งมาแต่ไม่ครบถ้วน
ในกรณีเช่นนี้ ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าธรรมเนียมศาลให้ครบถ้วนภายในระยะ เวลาที่ศาลกำหนด หากผู้ฟ้องคดีไม่ยอมดำเนินการ ศาลจะสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและสั่งจำหน่ายคดีนั้นออกจากสารบบความต่อไป

3. ข้อควรระวังเกี่ยวกับการติดต่อกับศาลปกครองระหว่างการดำเนินคดีปกครอง
ในการดำเนินคดีปกครองของศาลปกครองนั้น เป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เป็นเอกสารเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นในระหว่างการดำเนินคดีปกครอง การติดต่อสื่อสารกันทางไปรษณีย์จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเท่าที่ผ่านมา สำนักงานศาลปกครองพบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารระหว่างศาลกับคู่กรณีหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องอยู่หลายประการ ดังนี้
    3.1 ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดี หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องมีหนังสือติดต่อถึงศาลปกครองหรือส่งเอกสารถึงศาลปกครองโดยไม่ได้แจ้งหมายเลขคดีมาด้วย
จึงทำให้สำนักงานศาลปกครองในฐานะผู้รับเรื่องไม่ทราบว่าหนังสือหรือเอกสารดังกล่าวนั้น เป็นส่วนหนึ่งของคดีหมายเลขที่เท่าใด ซึ่งทำให้ไม่สามารถเสนอหนังสือหรือเอกสารนั้นให้แก่ ตุลาการ เจ้าของสำนวนเพื่อสั่งการใดๆ ได้ในทันที เพราะต้องใช้เวลาและบุคลากรในการตรวจ สอบอีกมาก ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้คดีปกครองคดีนั้นล่าช้า

     3.2 ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดี หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องมีหนังสือตอบหมายหรือคำสั่งของตุลาการเจ้าของสำนวน โดยจ่าหน้าซองถึงชื่อของตุลาการเจ้าของสำนวนผู้นั้นโดยตรง
ในกรณีนี้ หากมิได้วงเล็บมุมซองมาด้วยว่าเป็นคดีปกครองหมายเลขที่เท่าใด บางครั้ง สำนักงานศาลปกครองก็อาจเข้าใจผิดว่า เป็นจดหมายส่วนตัวของตุลาการผู้นั้นและนำจ่าย จดหมายห้โดยไม่ผ่านสารบบความอย่างถูกต้องซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นกว่าหนังสือดังกล่าวจะได้เข้าสู่สารบบความอย่างถูกต้องได้ก็จะต้องรอจนกว่าตุลาการเจ้าของสำนวนจะเปิดดูจดหมายพบว่าเป็นคดีปกครองและส่งกลับมาให้ฝ่ายสารบบคดีดำเนินการ ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้คดีปกครองคดีนั้นล่าช้าขึ้นอีกมาก

    3.3 ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดี หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องได้ย้ายที่อยู่หรือที่ตั้งสำนักงาน แต่ไม่ได้มีหนังสือแจ้งให้สำนักงานศาลปกครองทราบ
กรณีเช่นนี้ย่อมทำให้สำนักงานศาลปกครองไม่อาจดำเนินการติดต่อส่งหมายหรือคำสั่งของศาลให้ได้ จึงอาจทำให้คดีปกครองคดีนั้นล่าช้าหรือเสียหายได้
จากปัญหาที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นได้ว่าหากผู้ฟ้องคดีผู้ถูกฟ้องคดีหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจและระมัดระวังในเรื่องต่างๆดังที่ได้กล่าวมาแล้วศาลปกครองกลางก็จะสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้ฟ้องคดีและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ที่มา ศาลปกครอง

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น

Close Menu