Ad Code

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่ง


            1.  ค่าขึ้นศาล
            คดีที่มีทุนทรัพย์ ได้แก่ คดีที่โจทก์เรียกร้องโดยมีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้  เช่น คดีที่มีคำขอเรียกร้องเงินหรือทรัพย์สินซึ่งยังมิได้เป็นของตนจากผู้อื่นมาเป็นของตน  โดยจำนวนเงินหรือราคาทรัพย์ที่เรียกร้องนั้นถือเป็นทุนทรัพย์



            สำหรับค่าขึ้นศาลในคดีที่มีทุนทรัพย์โจทก์ต้องเสียอัตราร้อยละ 2.50 บาท ของจำนวนทุนทรัพย์ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
            คดีไม่มีทุนทรัพย์ คือ คดีที่โจทก์มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เช่น ขอให้บังคับจำเลยให้กระทำการหรือละเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ของโจทก์  โดยโจทก์ไม่ได้อ้างหรือเรียกร้องเป็นจำนวนเงินหรือทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่ง
            สำหรับค่าขึ้นศาลในคดีไม่มีทุนทรัพย์โจทก์ต้องเสียเรื่องละ 200 บาท
            ในกรณีเป็นคดีมีทุนทรัพย์กับไม่มีทุนทรัพย์รวมอยู่ในคดีเดียวกันให้คิดค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 2.50 บาท ของจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องโดยเป็นเงินอย่างต่ำ  200 บาท แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
            คำฟ้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ  คิดค่าขึ้นศาลอัตราร้อยละ 1 บาท  ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่อนุญาโตตุลาการกำหนดไว้ในคำชี้ขาดแต่ไม่เกิน 80,000 บาท
            คำฟ้องขอให้บังคับจำนองหรือบังคับเอาทรัพย์สินจำนองหลุด  คิดค่าขึ้นศาลตามจำนวนหนี้ที่เรียกร้องในอัตราร้อยละ 1 บาท แต่ไม่เกิน 100, 000 บาท
            อุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งศาล  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 227 หรือ 228 เสียค่าขึ้นศาลเรื่องละ 200 บาท
            ค่าขึ้นศาลในอนาคต (เกี่ยวกับค่าเช่า ดอกเบี้ย ค่าเสียหาย ) เช่นถ้าไม่ได้ขอดอกเบี้ยก่อนฟ้อง แต่ขอดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จ ต้องเสียค่าขึ้นศาลอนาคตอีก 100 บาท
         

          ค่าขึ้นศาลเพิ่มขึ้น
            ตามปกติศาลจะคำนวณค่าขึ้นศาลเมื่อโจทก์ยื่นฟ้อง แต่ถ้าต่อมามีการแก้ไขคำฟ้องหรือมีเหตุประการอื่นอันทำให้จำนวนทุนทรัพย์เพิ่มขึ้นโจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มขึ้นตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เพิ่มนั้น
            วิธีคำนวณค่าขึ้นศาล
            ในการคำนวณค่าขึ้นศาลถ้าทุนทรัพย์ไม่ถึง 100 บาท ให้นับเป็น 100 เศษของ 100 บาท ถ้าถึง 50 บาท ให้นับเป็น 100 ถ้าต่ำกว่า 50 บาท ให้ปัดทิ้ง
            การคำนวณมีวิธีการง่ายๆ คือ ให้นำทุนทรัพย์ตั้งแล้ว หารด้วย 40
เช่น      ทุนทรัพย์                                 =          21,050  บาท
            วิธีคิด                                       =          21,100  บาท  หารด้วย 40
            คิดเป็นค่าขึ้นศาล                     =          527.50  บาท

2.  ค่าธรรมเนียมอื่นๆ  ในคดีแพ่ง
            คำร้อง                          20  บาท
            คำขอ                           10  บาท
            คำแถลง                       -     บาท
            ใบแต่งทนาย                20  บาท
-   ค่าอ้างเอกสารเป็นพยานฉบับละ 5 บาท สูงสุดไม่เกิน 200 บาท
-   ค่ารับรองสำเนาเอกสาร  โดยผู้อำนวยการสำนักงานศาล 20 บาท
-   ค่าใบสำคัญแสดงว่าคดีถึงที่สุด 15 บาท

การขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
      กรณีที่โจทก์หรือจำเลยเป็นคนยากจน  ไม่มีทรัพย์สินพอจะเสียค่าธรรมเนียมศาล โจทก์หรือจำเลยอาจยื่นคำร้องขออนุญาตยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลได้  เรียกว่าการฟ้องหรือต่อสู้คดีอย่างคนอนาถา ซึ่งขอได้ทุกระดับชั้นศาล

      ผู้ขอจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลพร้อมกับคำฟ้อง   คำฟ้องอุทธรณ์  คำฟ้องฎีกา หรือคำให้การ และสาบานตัวต่อเจ้าหน้าที่ศาลว่า ไม่มีทรัพย์สินพอจะเสียค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลจะบันทึกถ้อยคำสาบานเอาไว้ศาลจะฟังคู่ความทุกฝ่ายโดยไต่สวนก่อนพิจารณาสั่ง

                  ถ้าศาลอนุญาตให้ฟ้องหรือต่อสู้คดีอย่างคนอนาถาทั้งหมด ผู้นั้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล ซึ่งรวมถึงเงินวางศาล อันได้แก่เงินค่าฤชาธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่ฝ่ายชนะคดีในศาลล่างสำหรับการยื่นฟ้องอุทธรณ์  หรือฎีกา

                  แต่ถ้าศาลอนุญาตให้ฟ้องหรือต่อสู้คดีอย่างคนอนาถาเพียงบางส่วนผู้นั้นจะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลเฉพาะส่วนที่ศาลสั่งยกเว้นให้
3.  ค่าใช้จ่ายอื่น  ในการดำเนินคดีแพ่ง  คู่ความอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายอื่นๆ  อีก เช่น  ค่าส่งหมาย ค่าทำแผนที่พิพาท ค่าป่วยการและค่าพาหนะพยาน ค่าตรวจเอกสารโดยผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น

Close Menu