เราได้พูดถึงเรื่องการประกาศใช้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 ที่จะมีผลบังคับให้ช่างไฟฟ้าภายในอาคารทุกคนจะต้องผ่านการทดสอบเพื่อรับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ตั้งแต่ วันที่ 26 ตุลาคม 2559 ที่จะถึงนี้ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีการบังคับใช้ก็ย่อมต้องมีอัตราโทษ ซึ่งเราจะมาอธิบายเพิ่มเติมกันในครั้งนี้
อัตราโทษที่กำหนดไว้เกี่ยวกับเรื่องการไม่มีใบอนุญาตของช่างไฟฟ้าภายในอาคาร แต่ฝ่าฝืนทำงาน ได้มีการกำหนดโทษเอาไว้ว่า...
“หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และผู้จ้างงาน ผู้ไม่มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถทำงานต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท” !!!
แปลขยายความให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ หาก ช่างไฟฟ้าผู้ใดที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตดังกล่าว ไปรับงาน หากถูกจับ จะถูกปรับในอัตราไม่เกิน 5,000 บาท ส่วนตัวผู้ว่าจ้าง ที่จ้างช่างไม่มีใบอนุญาตให้มาทำงาน จะถูกปรับในอัตราที่สูงกว่า คือ ไม่เกิน 30,000 บาท !!
สำหรับส่วนตัวของ “ผู้จ้าง” ในที่นี้ต้องอธิบายเพิ่มเติมสักเล็กน้อย เนื่องจากผลที่จะบังคับใช้นั้น ตัวผู้ว่าจ้าง หมายถึง หัวหน้างาน หรือผู้รับเหมาที่จ้างช่างเข้ามาทำงาน ไม่ได้หมายถึง ผู้ที่เป็นเจ้าของบ้าน ยกตัวอย่างก็คือ เจ้าของบ้าน ต้องการต่อเติมอาคาร ก็ไปว่าจ้างผู้รับเหมาให้มาทำงานให้ ซึ่งในทีมของผู้รับเหมาก่อสร้าง ก็จะมีช่างไฟฟ้า ซึ่งหากว่าช่างไฟฟ้าที่เข้ามาทำงานไฟฟ้าภายในอาคาร ที่ว่าจ้างเข้ามานี้ เป็นผู้ที่ยังไม่มีใบอนุญาตรับรอง ตัวของช่างไฟฟ้าคนนั้นจะโดนปรับเป็นเงินไม่เกิน 5,000 บาท ส่วน ผู้รับเหมา ที่ว่าจ้างช่าง จะถูกปรับในอัตราไม่เกิน 30,000 บาท ! ซึ่งกรณีนี้ไม่เกี่ยวกับเจ้าของบ้าน...
เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นยาแรงขนานหนึ่ง ! ที่เกิดขึ้นในวงการช่าง ที่ทั้งช่างไฟฟ้าและผู้รับเหมาจะต้องเอาใจใส่และให้ความสำคัญ ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาถูกปรับไม่คุ้มกับรายได้... อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ก็มีเหตุผลในการออกมาบังคับใช้ซึ่งเราก็ควรทำความเข้าใจที่ไปที่มาของมันเสียก่อน...
เหตุผลที่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ข้อนี้ขึ้นบังคับใช้ ก็เนื่องมาจาก... การทำงานในสาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เป็นอาชีพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่น หรือต่อสาธารณะ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า บ่อยครั้งที่เกิดไฟไหม้จากสาเหตุไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ซึ่งเป็นไปได้ว่าส่วนหนึ่งของการลัดวงจรเป็น เพราะมีช่างที่ไม่มีทักษะเพียงพอ ไม่ได้รับการเรียนและฝึกฝนอย่างถูกต้อง เป็นช่างแบบครูพักลักจำ หัดทำเองแล้วมารับงาน ซึ่งเป็นไปได้ว่าทำให้เกิดงานที่ไม่ได้ระดับมาตรฐาน ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายขึ้น การทดสอบเพื่อมอบใบรับรอง ถือเป็นการจัดระบบมาตรฐาน ทำให้เกิดความปลอดภัยที่สูงขึ้น และเรื่องนี้ยังเป็นประโยชน์ กับทั้งเจ้าของบ้าน ผู้รับเหมา และตัวของช่างไฟฟ้าเอง ด้วย ดังนั้น... รีบดำเนินการเสียตั้งแต่ตอนนี้ ! ติดต่อสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานในจังหวัดของท่าน เพื่อทราบหลักเกณฑ์เพิ่มเติม หรือ สอบถามได้ที่ 02-245-1707 ต่อ 601 หรือ 602 ได้ในวันเวลาราชการ
0 ความคิดเห็น