Ad Code

แกล้งร้องเรียน, แจ้งความ ฟ้องผู้อื่นระวังจะถูกฟ้องกลับ ถ้าไม่สุจริต


           ผู้เสียหายมีอำนาจร้องขอความเป็นธรรม ร้องทุกข์กล่าวโทษ ฟ้องร้องดำเนินคดี สิทธิดังกล่าวเป็นไปตาม ป.วิ.พ. หรือ ป.วิ.อ.แต่การใช้สิทธิต้องกระทำโดยสุจริต ไม่กลั่นแกล้งหรือรู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จไม่เป็นความจริง แต่ไปแกล้งร้องเรียนหรือแกล้งฟ้องร้องถือว่า เป็นการกระทำละเมิด

1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1147/2503
            การที่จำเลยแจ้งความเท็จเป็นการละเมิดต่อโจทก์ เพราะจำเลยไม่มีอำนาจเอาความไม่จริงไปแจ้งความกล่าวหาโจทก์ และเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการละเมิดของจำเลยทำให้โจทก์ถูกจับกุมและควบคุมเสียเสรีภาพจำเลยต้องรับผิดฐานละเมิด
2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3828/2533
            ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95 บัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบุคคลใด เว้นแต่บุคคลนั้นเป็นผู้ที่ได้เห็นได้ยินหรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองก็ตาม แต่ก็มีข้อยกเว้นว่า ความในข้อนี้ให้ใช้ได้ต่อเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายโดยชัดแจ้งหรือคำสั่งของศาลว่าให้เป็นอย่างอื่น ดังนี้ แม้คำเบิกความของ ฉ.และว.เป็นพยานบอกเล่า และแม้ผู้บอกเล่ายังมีตัวอยู่และสามารถนำสืบมาได้ศาลก็ย่อมมีอำนาจรับฟังคำพยานโจทก์ทั้งสองปาก ซึ่งเบิกความประกอบพยานเอกสารดังกล่าวได้
3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 976/2543
             แม้โจทก์จะมีชื่อและนามสกุลอย่างเดียวกันกับลูกหนี้ของจำเลย แต่ก็มีภูมิลำเนาต่างกัน ทั้งลูกหนี้ของจำเลยไม่เคยย้ายภูมิลำเนา อีกทั้งเมื่อโจทก์ติดต่อทนายความจำเลยแจ้งว่ามิได้เป็นหนี้ ทนายความจำเลยหรือจำเลยกลับยืนยันว่าเป็นหนี้ ถ้าไม่ชำระหนี้จะฟ้องร้องต่อศาล ทำให้โจทก์เกิดความกลัว จึงได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเป็นเหตุให้โจทก์ถูกหนังสือพิมพ์รายวันลงข่าวเผยแพร่ไปทั่วราชอาณาจักร ทำให้โจทก์ถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปสอบสวนหามูลเหตุของข่าวการเป็นหนี้จำเลย และลงความเห็นว่าถ้าข่าวดังกล่าวเป็นจริงโจทก์จะถูกลงโทษ โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการโทรศัพท์ทางไกลติดต่อญาติพี่น้องเพื่อแจ้งความจริงให้ทราบ และได้ว่าจ้างทนายความให้ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับหนี้ดังกล่าว ดังนี้ กรณีถือได้ว่าจำเลยประมาทเลินเล่อหรือไม่ใยดีต่อผลแห่งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่โจทก์ในภายหลังโดยไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรทำการตรวจสอบเกี่ยวกับตัวลูกหนี้ของจำเลยเสียใหม่ตามที่โจทก์แจ้งให้ทนายความของจำเลยหรือจำเลยทราบแล้วว่าโจทก์มิใช่ลูกหนี้ของจำเลย รวมทั้งจำเลยยังได้ยืนยันที่จะฟ้องร้องโจทก์ต่อศาล จนเป็นเหตุให้โจทก์เกิดความกลัวและนำเรื่องไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนจนถูกหนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับนำข่าวไปเผยแพร่ทั่วราชอาณาจักร อันเป็นการกระทำต่อโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์เสียหาย พฤติการณ์จึงถือได้ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์อันจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพื่อการนั้นแล้วครบถ้วนด้วยองค์ประกอบแห่งความผิดเพื่อละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420
4.คำพิพากษาฎีกาที่ 1051/2495
             เจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำยึดบ้านเรือน โดยมีเหตุผลให้เชื่อโดยสุจริตว่าบ้านเรือนที่ยึดเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษา จนถึงขายทอดตลาดบ้านเรือนนั้นไป ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำไปโดยใช้สิทธิของศาล เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือผู้แทนกระทำไปโดยมิได้ประมาทเลินเล่อแต่อย่างใดแล้ว ถึงแม้จะปรากฎว่าบ้านเรือนที่นำยึดเป็นของผู้อื่นการกระทำนั้น ไม่เป็นละเมิด
    การที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไปยึดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาถือว่าเป็นการใช้อำนาจตาม ป.วิ.พ.การยึดทรัพย์นี้บางครั้งทรัพย์ที่ยึดเป็นของบุคคลอื่น ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเชื่อโดยสุจริตว่าทรัพย์ที่ไปยึดเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ก็ถือว่าเป็นการใช้สิทธิตามที่ ป.วิ.พ. ให้อำนาจไว้ไม่เป็นการจงใจทำให้ผู้อื่นเสียหาย จะมีปัญหาเฉพาะเรื่องประมาทเลินเล่อหรือไม่ ถ้าเป็นทรัพย์ที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาครอบครองหรือใช้สอยอยู่ ซึ่งสามัญชนทั่วไปย่อมเชื่อได้ว่าทรัพย์ที่ยึดถือครอบครองหรือใช้สอบอยู่ เป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็คงไม่ประมาทเลินเล่อ แต่ถ้าเป็นพวกอสังหาริมทรัพย์ก็น่าจะตรวจสอบจากเอกสารหนังสือสำคัญเกี่ยวกับสิทธิที่ดินก่อนหรือ ถ้าเชื่อว่าเขาครอบครองแทนกัน ก็จะต้องมีข้อเท็จจริงที่หนักแน่นให้ฟังได้ว่า หรือให้เข้าใจโดยสุจริตได้ว่า เป็นทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา มิฉะนั้น อาจจะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ซึ่งเป็นละเมิดได้
5.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2390/2529
            จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้เลี่ยมกรอบพระเครื่องให้4องค์แต่ไม่ไปรับพระเครื่องที่โจทก์เลี่ยมกรอบเสร็จแล้วคืนโจทก์จึงขายพระเครื่องไปเช่นนี้การที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ฐานยักยอกทรัพย์โดยไม่ได้ความว่าจำเลยจงใจกลั่นแกล้งกล่าวหาย่อมถือว่าเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยสุจริตและการที่พนักงานสอบสวนตั้งข้อหาควบคุมตัวและดำเนินการสอบสวนโจทก์จนกระทั่งพนักงานอัยการฟ้องโจทก์ต่อศาลจึงเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการการกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์. การฟ้องเรียกทรัพย์คืนหรือให้ใช้ราคาทรัพย์ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้จึงต้องถืออายุความ10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา164.(ที่มา-ส่งเสิรมฯ)
6.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 826 - 827/2514
           โจทก์ฟ้องจำเลยด้วยเรื่องหุ้นส่วนเลี้ยงและขายไก่แบ่งปันกำไรกันขอให้พิพากษาบังคับจำเลยใช้ทุนคืนและจ่ายผลกำไร ทางพิจารณาข้อเท็จจริงฟังได้ไม่ใช่เรื่องเข้าหุ้นส่วน เป็นเรื่องจำเลยซื้อสินค้าเชื่อค้างชำระกันอยู่ พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าเชื่อให้โจทก์ ย่อมเป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็น
           เมื่อพฤติการณ์ที่จำเลยไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานให้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ จำเลยได้กระทำไปโดยเชื่อว่าตนมีสิทธิและใช้สิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมาย และยังไม่ได้ความว่าจำเลยจงใจแกล้งให้โจทก์เสียหาย กรณียังไม่เป็นละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
7.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3833/2528
            การใช้สิทธิทางศาล หากกระทำโดยไม่สุจริต จงใจแต่จะให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยใช้ศาลเป็นเครื่องกำบัง ก็เป็นการกระทำละเมิดได้ โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินอันเป็นสามยทรัพย์ให้แก่บุคคลอื่นไป ไม่มีสิทธิในทางภาระจำยอมอีกแล้ว กลับมายื่นคำร้องและนำสืบพยานหลักฐานในการไต่สวนคำร้องโดยจงใจกลั่นแกล้งโจทก์ เพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหายหากได้ความเป็นความจริงตามฟ้องก็จะถือว่าจำเลยใช้สิทธิในทางศาลโดยสุจริตมิได้การกระทำของจำเลยอาจเป็นละเมิดต่อโจทก์ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ห้ามโจทก์ โอนขาย จำหน่ายที่ดิน หากมีคำสั่งไปเพราะหลงเชื่อตามพยานหลักฐานเท็จหรือปกปิดความจริงที่จำเลยนำสืบ ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ได้เช่นเดียวกัน ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะสืบพยานโจทก์จำเลยให้เสร็จสิ้นกระแสความเสียก่อนการสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยเสียจึงถือว่าไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาเป็นการไม่ชอบ ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การ แล้วมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยและวินิจฉัยในข้อกฎหมายว่าคำสั่งศาลมิใช่ผลโดยตรงจากการที่จำเลยยื่นคำร้องการกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้อง เป็นการที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมายอันทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม มาตรา 227 แม้โจทก์จะไม่ได้โต้แย้งไว้ก็มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาต่อมาได้
8.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 124/2487
           ในเรื่องหมิ่นประมาทเขาซึ่งหน้าอันเป็นผิดฐานลหุโทษนั้นถือว่าเป็นการทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา420 ซึ่งศาลคำนวณค่าเสียหายให้ตามควรแก่พฤติการณ์ตามมาตรา 438
           คำว่าสิทธิหมายถึงประโยชน์อันบุคคลมีอยู่และบุคคลอื่นต้องเคารพหรือได้รับการรับรองและคุ้มครองของกฎหมาย
9.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 804/2502
          ฟ้องโจทก์ที่บรรยายว่า จำเลยร้องเรียนและแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ถ้าโจทก์มิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่า ข้อความที่จำเลยร้องเรียนและแจ้งแก่เจ้าพนักงานนั้น เท็จอย่างใดและความจริงเป็นฉันใด อันพอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี แม้ข้อความในตอนท้ายจะมีกล่าวว่าโดยจำเลยรู้อยู่ก่อนแล้วว่า เป็นข้อความเท็จหรือมิได้มีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้น ก็เป็นข้อความที่กล่าวอย่างเคลือบคลุม ไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้ว่าเป็นเท็จในข้อใด คำว่า "หรือมิได้มีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้น" ก็เป็นคำกล่าวอย่างกว้างๆ ไม่แน่ชัดว่าเหตุที่ไม่มีการกระทำผิดเกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะไม่มีการกระทำหรือว่าเป็นเพราะการกระทำนั้นไม่เป็นผิดอาญาทั้งมีคำว่า "หรือ" ประกอบอยู่ในฟ้อง ซึ่งเป็นถ้อยคำที่แสดงถึงการไม่ยืนยันให้แน่ชัด ฟ้องโจทก์เช่นนี้ย่อมไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)
           โจทก์ฟ้องว่าจำเลยไปแจ้งความเท็จหาว่าโจทก์ลักทรัพย์เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานจับโจทก์ไปควบคุมไว้ ขอให้ลงโทษจำเลยฐานทำให้เสื่อมเสียอิสระภาพนั้น การที่โจทก์ถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวดังที่กล่าวในฟ้อง ย่อมเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานซึ่งจะเห็นสมควรปฏิบัติต่อโจทก์อย่างใดตามควรแก่กรณี เพียงแต่พิจารณาฟ้อง ก็ยกฟ้องได้แล้ว เพราะตามที่บรรยายในฟ้องจำเลยยังไม่มีความผิดฐานนี้
10.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7/2516
            เอกสารที่บุคคลผู้มีอำนาจหน้าที่กระทำได้ ได้ทำขึ้นนั้น แม้ข้อความในเอกสารนั้นจะไม่ตรงกับความจริง ก็หาเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารไม่
            จำเลยไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า โจทก์ยักยอกทรัพย์ จนโจทก์ถูกพนักงานสอบสวนกักขัง ก็เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนใช้ดุลพินิจว่าจะกักขังโจทก์หรือไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310
11.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3925/2531
            คดีก่อนโจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาซื้อขายถ้วยแก้วขอให้บังคับจำเลยคืนเงินมัดจำและค่าเสียหายที่โจทก์ต้องไปซื้อถ้วยแก้วจากผู้อื่นแพงขึ้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดจากการที่โจทก์ต้องชำระเงินตามเช็คที่จำเลยโอนไปให้แก่บุคคลภายนอกและเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการที่โจทก์ต้องแต่งตั้งทนายความสู้คดีและต้องรับโทษจำคุกตามคำพิพากษา ซึ่งเป็นคนละเรื่องต่างประเด็นกัน และโจทก์เพิ่งชำระเงินตามเช็คไปหลังจากศาลชั้นต้นในคดีก่อนพิพากษาคดีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 คำให้การของจำเลยต่อสู้ปฏิเสธฟ้องโจทก์แต่เพียงว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173มิได้ให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามมาตรา 144 และศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานไว้ว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนหรือไม่ ดังนั้นศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำจึงชอบแล้ว จำเลยผิดสัญญาโอนเช็คที่โจทก์จ่ายเป็นประกันการชำระราคาซื้อขายถ้วยแก้วให้บุคคลภายนอก โจทก์ถูกบุคคลภายนอกฟ้องและได้ชำระเงินตามเช็คให้บุคคลภายนอกไปแล้ว ค่าดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ได้จ่ายให้แก่บุคคลภายนอกผู้เป็นโจทก์นั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอากับจำเลยได้ เพราะไม่เป็นค่าเสียหายโดยตรงจากการที่จำเลยผิดสัญญา ความรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในเรื่องละเมิดเกี่ยวกับการทำให้เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณนั้น มีแต่เฉพาะการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนความจริงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในกรณีต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติยศเพราะถูกจำคุกตามคำพิพากษา ค่าจ้างทนายความต่อสู้คดีที่โจทก์ผู้สั่งจ่ายถูกผู้ทรงฟ้องไม่ใช่เป็นผลโดยตรงอันเกิดจากการที่จำเลยผิดสัญญาและแม้จะเป็นเรื่องละเมิดก็นับว่าเป็นค่าเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเอาแก่จำเลย
12.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7807/2542
           จำเลยเป็นเพียงผู้จำหน่ายเทปเพลงซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่มีผู้ทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยได้ทำซ้ำไว้แล้วเท่านั้น แม้การกระทำดังกล่าวจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง ประชาชนขาดความเชื่อถือ และโจทก์ได้เสียค่าใช้จ่ายในการโฆษณาเทปเพลงลิขสิทธิ์ของโจทก์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบเป็นเงินจำนวนมากก็ตามแต่ความเสียหายของโจทก์ที่ได้รับจากการกระทำของจำเลยโดยตรงที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้คงมีเฉพาะที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการที่จำเลยนำเทปเพลงที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ออกจำหน่าย อันอาจทำให้การจำหน่ายเทปเพลงของโจทก์ตกต่ำไป 175 ม้วน ซึ่งคิดเป็นเงินที่โจทก์จำหน่ายราคาม้วนละ 90 บาท เป็นเงิน 15,750 บาท ส่วนความเสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์ทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือในกิจการของโจทก์นั้นมีไม่มากนัก ค่าเสียหายในส่วนนี้จำนวน 50,000 บาท จึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยแล้ว แต่การที่โจทก์ได้จ่ายเงินให้แก่สำนักงานทนายความเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลยนั้นเป็นเพียงค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องจ่ายเพื่อรักษาประโยชน์ในการดำเนินกิจการของโจทก์เท่านั้น มิใช่ค่าเสียหายที่เกิดจากการละเมิดของจำเลยโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าใช้จ่ายส่วนนี้จากจำเลยได้
           โจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลย 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์ 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง การที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง จึงเป็นกรณีที่โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายเพิ่มในชั้นอุทธรณ์ 50,000 บาทเท่านั้น โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ตามทุนทรัพย์เพียง 50,000 บาท รวมค่าขึ้นศาลอนาคตด้วย ฉะนั้น การที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในทุนทรัพย์ 100,000 บาท จึงไม่ถูกต้อง ต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่โจทก์
13.คำพิพากษาฎีกาที่ 877/2531(ประชุมใหญ่)
            พิพากษาว่า การที่ไปเชื่อมสายไฟเอาไฟฟ้ามาใช้ในบ้านถือว่าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์เพราะกระแสไฟฟ้าเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง แต่ในคดีแพ่งไม่มีปัญหาเมื่อกระแสไฟฟ้าเป็นทรัพย์สินแล้วทำละเมิดก็ถือว่าทำให้เสียหายต่อทรัพย์สิน การที่ขับรถโดยประมาทชนเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้าหักล้ม กระแสไฟฟ้าวิ่งลงดินหมด นอกจากเสาไฟฟ้าหักเสียหาย ซึ่งเป็นการเสียหายต่อทรัพย์สินแล้วยังเสียหายต่อกระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์สินอีกอย่างหนึ่งด้วย+

14.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6702/2553
           จำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธินำประเด็นที่ถึงที่สุดในคดีแรกมาฟ้องโจทก์ การที่จำเลยรู้อยู่แล้วยังนำคดีมาฟ้องโจทก์ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันนั้นอีก เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่อสู้คดีปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตนจากการกระทำอันไม่สุจริตของจำเลย จำเลยจึงเป็นฝ่ายกระทำละเมิดต่อโจทก์และค่าว่าจ้างทนายความเข้าต่อสู้คดีกับจำเลยในเหตุที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องเสียไปในการปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของโจทก์ไม่ให้เสียไปจึงเป็นค่าเสียหายโดยตรงจากการที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น

Close Menu