Ad Code

ทำอย่างไรเมื่อต้องการประกันตัว


การขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาล
1.การขอประกันตัวคืออะไร?
                การขอประกันตัว     คือ     การขออนุญาตให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยพ้นจากการควบคุมของเจ้าพนักงานหรือศาลตามระยะเวลาที่กำหนดเพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกควบคุมหรือขังเป็นเวลานานเกินกว่าความจำเป็นในระหว่างการสอบสวนหรือการพิจารณาคดี เพราะหากไม่มีความจำเป็นต้องควบคุมก็ควรที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวไป  อันเป็นการปฏิบัติตามหลักการของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดมิได้



2.การขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาลจะทำได้ในชั้นใดบ้าง?
                 การขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาลจะทำได้ดังนี้.-
2.1 การขอประกันตัวระหว่างชั้นฝากขังทำได้เมื่อผู้ต้องหาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานอัยการนำตัวมาขออนุญาตศาลฝากขังระหว่างที่ยังสอบสวนไม่เสร็จ  ผู้ต้องหามีสิทธิยื่นขอประกันตัวต่อศาล
                2.2 การขอประกันตัวชั้นพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นทำได้เมื่อผู้ต้องหาถูกพนักงานอัยการฟ้องต่อศาลแล้วก็จะเปลี่ยนฐานะจากผู้ต้องหาเป็นจำเลย  จำเลยมีสิทธิขอประกันตัวต่อศาลได้  ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์  เมื่อศาลประทับฟ้องแล้ว  จำเลยจะยื่นขอประกันตัวก่อนวันนัดหรือในวันนัดที่ระบุในหมายเรียกให้มาแก้คดีก็ได้
                2.3 การขอประกันตัวชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา  เมื่อมีกรณีที่จำเลยถูกขังหรือจำคุก  โดยผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้น  ศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาค  จำเลยอาจยื่นขอประกันตัวก่อนที่จะยื่นอุทธรณ์ หรือยื่นฎีกา หรือจะยื่นขอประกันตัวพร้อมกันหรือาหลังจากยื่นอุทธรณ์ หรือยื่นฎีกาก็ได้  การขอประกันตัวดังกล่าวให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น  ที่พิพากษาคดี  หรืออาจยื่นต่อศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาค หรือศาลฎีกา  แล้วแต่กรณี
                ทั้งนี้  การประกันตัวในชั้นใดก็จะใช้ได้ในชั้นนั้น  เมื่อชั้นของการของประกันตัวเปลี่ยนไปก็ต้องยื่นขอประกันตัวใหม่
3.การขอประกันตัวเป็นเรื่องยุ่งยากหรือไม่?
                คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าการติดต่อขอประกันตัวเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนจนต้องอาศัยนายประกันอาชีพช่วยจัดการให้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายสูงและอาจถูกหลอกลวงได้  ปัจจุบันศาลยุติธรรมได้จัดเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ไว้ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ให้คำแนะนำในขั้นตอนการขอประกันและแนะนำวิธีการเขียนคำร้องขอประกันตัว  ผู้ขอประกันตัวตอิดต่อขอคำแนะนำและทำคำขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยด้วยตนเองได้ทุกขั้นตอน  ทั้งนี้  เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์จะแนะนำวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด
4.ใครบ้างมีสิทธิยื่นคำร้องขอประกันตัว?
                4.1 ผู้ต้องหาหรือจำเลย
                4.2 ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง  เช่น บุพการี  ผู้สืบสันดาน  สามี  ภริยา  ญาติพี่น้อง  ผู้บังคับบัญชา  นายจ้าง  บุคคลที่เกี่ยวพันโดยทางสมรส  บุคคลที่ศาลเห็นว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนเป็นญาติพี่น้องหรือมีความสัมพันธ์ในทางอื่นที่ศาลเห็นสมควรให้ประกันได้ หรือนิติบุคคล (เช่น  บริษัท  ห้างหุ้นส่วนจำกัด)  สำหรับกรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นกรรมการ  ผู้แทน  ตัวแทน  หุ้นส่วน  พนักงานหรือลูกจ้างของนิติบุคคลนั้น
5.การปล่อยชั่วคราวมีกี่ประเภท?
                การที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวหรืออนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแบ่งได้เป็น 3 ประเภทา ได้แก่          
                5.1 การปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกัน คือ  การปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องทำสัญญาประกันและไม่ต้องมีหลักประกันแต่อย่างใด  เพียงแต่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยสาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะมาตามนัดหรือหมายเรียกเท่านั้น
                5.2 การปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน คือ การปล่อยตัวชั่วคราวโดยผู้ขอประกัน  ต้องทำสัญญาประกันต่อศาลว่าจะปฏิบัติตามนัดหรือหมายเรียกของศาลซึ่งให้ปล่อยชั่วคราว  ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มาตามกำหนด  ผู้ขอประกันจะถูกปรับตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในสัญญาประกัน  ตลอดจนอาจมัการกำหนดเงื่อนไขในสัญญาประกันนั้น
                5.3 การปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันและหลักประกัน คือ การปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีสัญญาว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะมาตามที่กำหนดในสัญญาหรือตามหมายเรียก  และมีการวางหลักประกันไว้เพื่อที่จะบังคับเอากับหลักประกันเมื่อมีการผิดสัญญา
6.การยื่นคำร้องขอประกันตัว  ผู้ขอประกันจะต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง?
                ในการติดต่อขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย  ผู้ขอประกันจะต้องยื่นคำร้องขอประกันตัว  พร้อมด้วยเอกสารและหลักประกันประกอบคำร้องดังกล่าว  โดยนำต้นฉบับเอกสารพร้อมสำเนามายื่นต่อเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง   และเสนอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งต่อไป  ซึ่งเอกสารในการประกอบคำร้องขอประกันตัวมีดังนี้.-
                6.1 บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ          
                6.2 ทะเบียนบ้าน
                6.3 กรณีผู้ขอประกันมีคู่สมรสจะต้องแสดงเอกสารเพิ่มเติม  ได้แก่
                      6.3.1 บัตรประกันตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรรัฐและทะเบียนบ้านของคู่สมรส
                      6.3.2 ใบสำคัญสมรส
                      6.3.3 หนังสือให้ความยินยอมของคู่สมรส
                6.4 กรณีชื่อเจ้าของหลักทรัพย์ไม่ตรงกับที่ปรากฎในหลักทรัพย์จะต้องแสดงเอกสารเพิ่มเติมได้แก่
                      6.4.1 หนังสือรับรองว่าเป็นบุคคลเดียวกัน  หรือ
                      6.4.2 หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว  ชื่อสกุล
                      6.4.3 ใบสำคัญการสมรส
                6.5 กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นชาวต่างประเทศ  หากมีหนังสือเดินทาง (Passport)  ต้องนำมาแสดงด้วย
                หากเอกสารที่ต้องนำมาในวันยื่นคำร้องขอประกันตัวไม่ครบถ้วน  ผู้ขอประกันอาจขอผัดผ่อนต่อศาลเพื่อพิจารณาอนุญาตให้นำมาส่งในภายหลังได้
7.หลักประกันใดบ้างที่สามารถใช้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้?
                7.1 เงินสด
                7.2 หลักทรัพย์อื่น  เช่น
                      7.2.1 โฉนดที่ดิน  หนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก. หรือ น.ส.3)
                     7.2.2 พันธบัตรรัฐบาล  สลากออมสิน  บัตรหรือสลากออมทรัพย์ทวีสินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  ตั๋วแลกเงินที่ธนาคารเป็นผู้จ่ายและธนาคารผู้จ่ายได้รับรองตลอดไปแล้ว  ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารเป็นผู้ออกตั๋ว  หรือเช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่าย (แคชเชียร์เช็ค) หรือเช็คที่ธนาคารรับรองแล้ว
                     7.2.3 สมุดเงินฝากประจำหรือใบรับเงินฝากประจำของธนาคาร
                     7.2.4 หนังสือค้ำประกันหรือหนังสือรับรองของธนาคาร
                     7.2.5 หนังสือรับรองของบริษัทประกันภัย
                     7.2.6 ในบางกรณีอาจใช้หลักประกันต่อไปนี้ได้
                                (1) ทะเบียนรถยนต์หรือทะเบียนรถจักรยานยนต์
                                (2) ภ.บ.ท.5  ส.ค.1  น.ส.2  หรือ สปก.
                                (3) บ้านพักอาศัย
                                (4) หลักทรัพย์ที่ติดจำนองหรือมีภาระติดพัน
                7.3 บุคคลเป็นหลักประกันโดยแสดงหลักทรัพย์          
                7.4 ส่วนราชการ  ตามระเบียบกระทรวงการคลัง   ว่าด้วยการช่วยเหลือข้าราชการหรือลูกจ้างของทางราชการที่ต้องหาคดีอาญา
                7.5 เป็นข้าราชการ  พนักงานรัฐวิสาหกิจ  ข้าราชการการเมืองหรือนายความ  (ใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกัน  เฉพาะตนเองหรือญาติใกล้ชิด) โดยสามรรถทำสัญญาประกันได้ในวงเงินไม่เกิน 10 เท่าของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน
                7.6 ผู้ประกอบวิชาชีพ  เช่น  แพทย์  เภสัชกร  พยาบาล  วิศวกร  สถาปนิก  ผู้สอบบัญชี  ครู  ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนฯ  เมื่อตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย  อาจใช้ตนเองเป็นหลักประกันได้  สำหรับกรณีความผิดที่ถูกกล่าวหาเกิดจาการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติงานในการประกอบวิชาชีพ  โดยสามารถทำสัญญาประกันได้ในวงเงินไม่เกิน 15 เท่าของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน
8.วิธีนำหลักประกันมาใช้ในการขอประกันตัว  ผู้ขอประกันจะต้องทำอย่างไร?
                8.1 กรณีใช้โฉนดที่ดิน  น.ส.3  หรือ น.ส.3 ก.  ต้องมีหนังสือรับรองประเมินราคาที่ดินจากสำนักงานที่ดินจังหวัดหรือจากที่ว่าการอำเภอในเขตที่ที่ดินตั้งอยู่ แล้วแต่กรณี  ซึ่งออกให้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน  รับรองโดยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือผู้ปฏิบัติราชการแทนหรือผู้ทำการแทน  กรณีรับรองโดยสำนักงานที่ดินอำเภอ  ผู้รับรองราคาประเมินจะต้องเป็นนายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้ทำการแทนหรือเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอ
                8.2 กรณีใช้สมุดเงินฝากธนาคารต้องมีหนังสือรับรองยอดเงินฝากคงเหลือปัจจุบันจากสาขาธนาคารที่เปิดบัญชี  พร้อมระบุข้อความว่าธนาคารจะไม่ให้ถอนเงินจำนวนดังกล่าวไปจนกว่าจะได้รับคำสั่งเปลี่ยนแปลงจากศาลก่อน
                8.3 กรณีใช้บุคคลตามข้อ 7.5  เป็นหลักประกัน  ต้องมีหนังสือรับรองจากต้นสังกัดแสดงสถานะ  ตำแหน่ง  ระดับอัตราเงินเดือน  และควรระบุให้ชัดเจนว่าจะนำไปประกันใคร  หากมีภาระผูกพันในการทำสัญญาประกันหรือใช้ตนเองเป็นหลักประกันผู้อื่นไว้ก็ให้แสดงภาระผูกพันนั้นด้วย
                8.4 กรณีใช้ทะเบียนรถยนต์หรือทะเบียนรถจักรยานยนต์ผู้ประกันต้องนำรถมาให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ศาลตรวจดูสภาพและประเมินราคา
                8.5 กรณีใช้ที่ดิน  ภบท.5  ส.ค.1  น.ส.2  หรือ สปก. ผู้ประกันต้องมีหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินจากธนาคาร  เช่น  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
                8.6 กรณีใช้บ้านพักอาศัย  ผู้ประกันควรต้องมีภาพถ่ายบ้านและให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านมีหนังสือรับรองการประเมินราคาให้
                8.7 กรณีใช้หลักทรัพย์ที่ติดจำนองหรือมีภาระติดพันผู้ขอประกันต้องแสดงได้ว่าราคาทรัพย์ส่วนที่เกินจากจำนองหรือจากภาระติดพันมีจำนวนเพียงพอต่อการใช้เป็นหลักประกัน
                8.8 กรณีบิดามารดาเป็นผู้ขอประกันบุตร  ศาลอาจให้ประกันโดยไม่ต้องแสดงหลักทรัพย์  แต่ต้องมีหลักฐานยืนยันได้ว่าเป็นบุตร
                8.9 กรณีใช้หนังสือรับรองของบริษัทประกันภัยเป็นหลักประกันภัยเป็นหลักประกันดูข้อ 9
หมายเหตุ  :  กรณีหลักทรัพย์ที่นำมาในวันยื่นของประกันตัวมีราคาไม่เพียงพอตามที่ศาลกำหนดวงเงินประกัน  ศาลอาจอนุญาตให้ผู้ขอประกันขอผัดผ่อนนำหลักทรัพย์มาเพิ่มเติมให้ครบในภายหลังได้
                ทั้งนี้  ในกรณีที่เจ้าของหลักทรัพย์มอบอำนาจให้บุคคลอื่นยื่นคำร้องขอประกันตัวจะต้องทำหนังสือมอบอำนาจ  ณ  ที่ว่าการอำเภอที่มีภูมิลำเนาหรือหลักทรัพย์ตั้งอยู่โดยให้นายอำเภอ หรือผู้รักษาราชการแทนลงลายมือชื่อและประทับตราประจำตำแหน่งรับรองการมอบอำนาจ  หรือทำหนังสือมอบอำนาจต่อหน้าเจ้าหน้าที่ศาล  พร้อมทั้งนำบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐและนำเนาทะเบียนบ้านของผู้มอบอำนายและผู้รับมอบอำนาจมาด้วยบางศาลอาจอนุญาตเฉพาะนำหลักทรัพย์มาประกันญาติที่พน้องเพื่อป้องกันการหลอกลวงเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาหาผลประโยชน์จากการประกันผู้ต้องหาหรือจำเลย
9.การประกันตัวโดยใช้หนังสือรับรองของบริษัทประกันภัยกรณีการประกันภัยอิสรภาพคืออะไร?
                การประกันภัยอิสรภาพเป็นการประกันภัยที่บริษัทประกันภัยจะออกหนังสือรับรองให้แก่ผู้เอาประกันเพื่อใช้หนังสือรับรองดังกล่าวมาวางเป็นหลักประกันในการขอประกันตัว  ซึ่งมี 2 แบบ คือ
                แบบที่ 1  การทำประกันภัยอิสรภาพอ่กนมีการกระทำความผิด
                                เป็นกรณีที่บุคคลทั่วไปประสงค์จะมีหลักทรัพย์ในการขอประกันตัวไว้ล่วงหน้า  เนื่องจากตนเองมีความเสี่ยงหรือมีโอกาสที่จะกระทำความผิดทางอาญาโดยประมาท  เช่น  ผู้ขับขี่รถ  แพทย์  ผู้รับจ้างงานก่อสร้าง  หากในระหว่างระยะเวลาคุ่มครองเกิดเหตุกระทำความผิดขึ้น  ซึ่งอาจจะต้องถูกควบคุมตัวระหว่างดำเนินคดี  บุคคลดังกล่าวสามารถใช้หนังสือรับรองเป็นหลักทรัพย์วางต่อศาลเพื่อขอประกันตัวตนเองได้
                แบบที่ 2 การทำประกันภัยอิสรภาพหลังมีการกระทำความผิด
                                เป็นกรณีที่บุคคลตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาแล้วและจะถูกควบคุมตัวหรือถูกควบคุมตัวแล้ว  ประสงค์จะหาหลักทรัพย์เพื่อนำไปขอประกันตัวตนเอง  บุคคลดังกล่าวหรือเพื่อนหรือญาติสามารถมาติดต่อขอซื้อประกันภัยอิสรภาพกับบริษัทประกันภัยได้ โดยบริษัทจะออกกรมธรรม์และหนังสือรับรองให้ตามจำนวนเงินเอาประกันภัย  บุคคลดังกล่าวสามารถนำหนังสือรับรองนั้นไปใช้เป็นหลักทรัพย์ในการขอประกันตัวต่อศาลได้
ข้อสังเกต  : การทำประกันภัยอิสรภาพหลังมีการกระทำผิดโดยปกติสามารถขอทำประกันได้ทุกข้อหาความผิด  ยกเว้นความผิดที่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ             นอกจากการประกันภัยอิสรภาพดังกล่าวแล้วยังมีการประกันอีกแบบหนึ่งเรียกว่าการประกันภัยการประกันตัวผู้ขับขี่รถยนต์  ซึ่งบริษัทประกันภัยได้ขายเป็นแบบความคุ้มครองเพิ่มเติมแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ  ซึ่งสามารถใช้หนังสือรับรองเป็นหลักทรัพย์ในการขอประกันตัวผู้ขับขี่รถยนต์ได้เช่นกัน
                9.1 จะนำหนังสือรับรองไปใช้อย่างไร?
                เมื่อได้รับหนังสือรับรองแล้ว  ผู้เอาประกันภัยควรตรวจสอบ  ชื่อ  นามสกุล  ฐานความผิด  วงเงินประกัน  และรายละเอียดอื่นๆ ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง  และนำหนังสือรับรองของบริษัทประกันภัยไปเป็นหลักทรัพย์ในการขอประกัน  เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับอนุญาตให้ประกันตัวแล้วจะต้องแจ้งวงเงินประกันให้บริษัททราบโดยเร็ว
                9.2 ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิได้รับคืนเบี้ยประกันในกรณีใดบ้าง?
                บริษัทประกันจะคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยในกรณีดังนี้.-
                     9.2.1 กรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพก่อนกระทำความผิด  คืนเบี้ยประกันภัยกรณีเดียว คือ เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต  และในระยะระหว่างเอาประกันภัยไม่มีการเรียกร้องให้ประกันตัว
                     ซึ่งถ้าผู้เอาประกันภัยใช้หนังสือรับรองเพื่อประกันตัวไปแล้ว  แต่ยังไม่เต็มวงเงินที่ระบุไว้หน้าตารางกรมธรรม์ ผู้เอาประกันภัยสามารถขอหนังสือรับรองฉบับใหม่ตามวงเงินส่วนที่เหลือโดยแจ้งเป็นหนังสือไปยังบริษัทประกันภัยได้
                     9.2.2 กรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพหลังกระทำความผิด  คืนเบี้ยประกันภัย 5 กรณี  ดังนี้.-
                                                ก. หากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว บริษัทประกันภัยคจะคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยโดยหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการไว้ 500 บาท  ในกรณีไม่แน่ใจว่าศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวหรือไม่  ผู้ขอประกันควรยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งก่อน   เมื่อศาลมีคำสั่งอนญาตให้ประกันตัวแล้วจึงไปติดต่อขอซื้อประกันภัยอิสรภาพ                  
                                                ข. หากศาลอนุญาตให้ประกันตัว  แต่ภายหลังในระหว่างระยะเวลาประกันภัย  ศาลได้มีคำสั่งให้ถอนหรือยกเลิกการให้ประกันตัวหรือผู้เอาประกันภัยไม่ประสงค์จะประกันตัวอีกต่อไป  บริษัทประกันภัยจะคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันภัย
                                                ค. หากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต  ในระหว่างระยะเวลาประกันภัยโดยมิได้มีการผิดสัญญาประกันตัวบริษัทประกันภัยจะคืนเบี้ยประกันภัยกึ่งหนึ่งให้กับทายาทของผู้เอาประกันภัย
                                                ง. หากผู้เอาประกันภัยไม่ผิดสัญญาประกันตัวจนสิ้นสุดระยะเวลาประกันภัย  บริษัทประกันภัยจะคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันภัย
                                                จ. หากกรณีที่ผู้เอาประกันภัยได้ใช้หนังสือรับรองเพื่อประกันตัวไปแล้ว แต่ยังไม่เต็มวงเงินที่ระบุไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์  บริษัทประกันภัยจะคืนเบี้ยประกันภัยส่วนที่เกินจำนวนเงินที่จะต้องรับผิดตามสัญญาประกันตัวให้
10.กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเคยขอประกันตัวไว้แล้ว หากต้องการขอให้ประกันตัวต่อไปจะใช้หลักทรัพย์เดิมได้หรือไม่?
                10.1 กรณีใช้เงินสดหรือหลักทรัพย์อื่นเป็นหลักประกัน
                ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เคยขอประกันตัวไว้ต่อสถานพินิจฯ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการและยังไม่ได้รับหลักทรัพย์คืน หากประสงค์จะขอประกันตัวต่อไป  สามารถยื่นคำร้องต่อศาล  ขอให้ถือเอาเงินสดหรือหลักทรัพย์นั้นเป็นหลักประกันต่อไปได้
                สำหรับในกรณีใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกันชั้นสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน  หากต้องการใช้หลักทรัพย์ดั้งกล่าวเป็นหลักประกันในชั้นศาลเยาวชนและครอบครัวต่อไปมีขั้นตอน ดังนี้.-
                (1) ผู้ขอประกันยื่นสำเนาใบเสร็จรับเงินที่ได้รับในวันประกันตัวชั้นสถานพินิจฯ  พร้อมคำร้องของประกันตัวต่อเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์
(2) เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์แจ้งสถานพินิจฯ และส่งสำเนาใบเสร็จรับเงินให้สถานพินิจฯ ทางโทรสาร
                (3) สถานพินิจฯ  เมื่อได้รับเรื่องแล้ว จะส่งเอกสารที่ต้องยื่นประกอบคำร้องขอประกันตัวชั้นศาลให้แก่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ทางโทรสาร ได้แก่
                                (3.1) หนังสือรับรองหลักทรัพย์การประกันตัวเด็กและเยาวชนจากสถานพินิจ
                                (3.2) หนังสือรับรองราคาประเมินที่ดิน(กรณีหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินฯ)
                                (3.3) หนังสือรับรองยอดเงินฝากจากธนาคาร (กรณีหลักทรัพย์เป็นสมุดเงินฝากที่ดินฯ)
                                (3.4) หนังสือยินยอมคู่สมรส
                                (3.5) หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)
                                (3.6) อื่นๆ
                (4) เมื่อเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ได้รับเอกสารตาม(3) ทางโทรสารแล้วจะนำเอกสารดังกล่าวพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนทั้งของผู้ขอประกันและจำเลย  กับสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ขอประกัน  เสนอศาลพิจารณาพร้อมคำร้องขอประกันตัว
                10.2 กรณีใช้บุคคลเป็นหลักประกัน
                บุคคลที่เป็นหลักประกันอาจร้องขอให้ศาลอาจถือเอาบุคคลนั้นเป็นหลักประกันในการประกันต่อไปได้
11.จะยื่นขอประกันตัวต่อศาลได้เมื่อใด?
                11.1 เมื่อตกเป็นผู้ต้องหาและพนักงานสอบสวนนำตวมาผัดฟ้องหรือฝากขังต่อศาล
                11.2 เมื่อตกเป็นจำเลย
                       11.2.1 โดยพนักงานอัยการนำตัวไปฟ้องศาล      
                       11.2.2 ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์  ศาลไต่ส่วนมูลฟ้องแล้บคดีมีมูล  ศาลออกหมายเรียกจำเลยไปสอบคำให้การแก้คดี
                11.3 เมื่อถูกขังตามหมายศาล  เช่น  ศาลออกหมายจับพยานที่ไม่มาศาล  หรือจำเลยต้องคำพิพากษาให้จำคุก หรือกักขัง  และคดียังอุทธรณ์ฎีกาได้
                11.4 เมื่อถูกจำคุกตามคำพิพากษาในกรณีละเมิดอำนาจศาล
                ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิขอประกันตัวได้ในคดีอาญาทุกประเภท ตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นศาล
12.อยากทราบว่าคดีที่ถูกฟ้องต้องใช้วงเงินประกันเท่าไร?
                สามารถขอตรวจสอบวงเงินประกันในการให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ที่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์  หรือเว็บไชด์ของศาล
13.วิธีปฏิบัติในการขอประกันตัวต้องทำอย่างไร?
                วิธีปฏิบัติในการขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย  มีดังนี้.-
                13.1 ขอแบบพิมพ์คำร้องขอประกันตัวได้จากเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์
                13.2 เขียนคำร้องขอประกันตัวได้เองโดยขอคำแนะนำได้จากเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ หากผู้ ขอประกันเขียนหนังสือไม่ได้จากเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์  จะบริการเขียนให้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
                13.3 ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยลงชื่อขอประกันตัวในคำร้องขอประกันตัว  เว้นแต่ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้ถูกควบคุมอยู่ที่ศาล
                13.4 ผู้ขอประกันยื่นคำร้องขอประกันตัวพร้อมหลักฐานต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์
                13.5 เมื่อเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ได้ตรวจคำร้องพร้อมหลักฐานเรียบร้อยแล้วและลงบัญชีรับเรื่องไว้เป็นหลักฐานจะนำเสนอคำร้องต่อผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาสั่งคำร้อง  เมื่อผู้พิพากษาสั่งคำร้องแล้วจตะส่งคำร้องขอประกันตัวคืนไปยังเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์
                13.6 เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์จะแจ้งคำสั่งศาลให้ผู้ขอประกันทราบ
                13.7 เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวแล้ว ถ้าจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศาลและยังไม่มีการออกหมายควบคุมไว้ก็จะนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยออกจากห้องควบคุมในศาลได้เลย  แต่ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกควบคุมตามหมายศาล เจ้าหน้าที่ก็จะนำหมายปล่อยไปปล่อย  ณ ที่ถูกคุมขัง
                13.8 ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะถูกปล่อยตัวในวันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว
                13.9 หากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว  ผู้ขอประกันตัวขอรับหลักทรัพย์คืนได้จากเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์
                13.10 การขอประกันตัวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกาใช้หลักเกณฑ์เช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว  แต่ศาลอาจใช้ดุลยพินิจเพิ่มหลักประกันจากที่ใช้ในศาลชั้นต้นได้
14.จะยื่นคำร้องขอประกันตัวได้ที่ไหน?
                14.1 ให้ยื่นคำร้องขอประกันที่งานประชาสัมพันธ์และบริการประชาชนของศาลชั้นต้นที่พิจารณาพิพากษาคดีนั้น  ยกเว้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศให้ยื่นที่ส่วนงานประชาสัมพันธ์และบริการประชาชนของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสำหรับคดีทีเกิดในเขตกรุงเทพมหานคร  นครปฐม  นนทบุรี  ปทุมธานี  สมุทธปราการ สมุทรสาคร  นอกจากนี้ให้ยื่นที่งานประชาสัมพันธ์ของศาลจังหวัดนั้น
                14.2 ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคให้ยื่นที่กลุ่มงานคดี(รับฟ้อง)
                14.3 ศาลฎีกาให้ยื่นที่ส่วนคดี
15.ศาลใช้หลักเกณฑ์อะไรในการวินิจฉัยสั่งคำร้องขอประกันตัว?
                ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 ได้บัญญัติให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจในการอนุญาตให้ประกันตัวหรือไม่ โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ต่างๆ  ดังนี้.-
                (1) ความหนักเบาแห่งข้อหา
                (2) พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด
                (3) พฤติการณ์แห่งคดีเป็นอย่างไร
                (4) เชื่อถือผู้ขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด
                (5) ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่            
                (6) ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจาการอนุญาตให้ประกันตัวมีเพียงใดหรือไม่
                (7) คำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการโจทก์หรือผู้เสียหาย แล้วแต่กรณี
                (8) ข้อเท็จจริงหรือรายงานหรือความเห็นของเจ้าพนักงาน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับการนั้น
                ในกรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นเด็กหรือเยาวชนศาลจะพิจารณาความประพฤติ  ภูมิหลัง  สิ่งแวดล้อมและผู้ปกครองในการดูแลเด็กประกอบด้วย
                ในคดีที่เด็กและเยาวชนไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นสถานพินิจฯ ศาลเยาวชนและครอบครัว หรือศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจทบทวนคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวของผู้อำนวยการสถานพินิจฯ  คำสั่งศาลเช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด  แต่ไม่ตัดสิทธิในการยื่นประกันตัวใหม่
16.ศาลจะสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเพราะเหตุใดบ้าง?
                สำหรับการสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวนั้น  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 บัญญัติให้ศาลกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันสมควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้.-
                (1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
                (2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
                (3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
                (4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกัน ไม่น่าเชื่อถือ
                (5) การอนุญาตให้ประกันตัวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล
17.มีกรณีที่ศาลจะสั่งอนุญาติให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยโดยไม่มีผู้ขอประกันได้หรือไม่?
                กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นเด็กหรือเยาวชน  ศาลเยาวชนและครอบครัวและศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจสั่งปล่อยชั่วคราวตามที่ศาลเห็นสมควร  โดยไม่ต้องมีผู้ขอประกัน ซึ่งมีหลักเกณฑ์  ดังนี้.-
                1.เด็กหรือเยาวชนถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานพินิจฯ หรือสถานที่อื่นใดที่ได้รับมอบหมายให้ควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชน
                2.ศาลเห็นสมควรมีคำสั่งปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชนชั่วคราวโดยไม่มีประกัน  หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันก็ได้ หรือมอบตัวเด็กหรือเยาวชนแก่บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่หรือบุคคลหรือองค์กรที่ศาลเห็นสมควรก็ได้
                3.ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งมาอบเด็กหรือเยาวชนแก่บุคคลหรือองค์กรดังกล่าวให้ศาลเรียกผู้อำนวยการสถานพินิจฯ หรือผู้ปกครองสถานที่ที่ได้รับมอบหมายให้ควบคุมเด็กหรือเยาวชนแล้วแต่กรณีมาสอบถามความเห็นก่อน
18.กรณีศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ผู้ขอประกันมีสิทธิ์ประการบ้าง?
     ผู้ของประกันมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้  ดังนี้.-
                18.1 คำสั่งของศาลชั้นต้เนให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค แล้วแต่กรณี              
                18.2 คำสั่งของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา
                คำสั่งของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัวตามศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด ทั้งนี้  ไม่ตัดสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอประกันตัวใหม่
19.เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ผู้ขอประกันตัวจะดำเนินการอย่างไร?
                หากผู้ขอประกันไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาล  สามารถอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาติให้ประกันตัวนั้นได้ กล่าวคือ  เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างสอบสวนหรือไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นตามที่ผู้ต้องหา  จำเลย  หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องยื่นคำร้องขอประกันตัวไว้  ผู้ขอประกัน  มีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวได้
20.การยื่นอุทธรณ์คำสั่งมีกำหนดเวลาหรือไม่?
                ตามปกติการอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาชั้นต้นจะต้องทำภายใน 1 เดือน แต่การอุทธรณ์กรณีศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราว  จะยื่นอุทธรณ์เมื่อใดก็ได้แม้เกิน 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง (คำสั่งคำร้องศาลฏีกาที่ 617/2528)
21.ยื่นคำร้องขออุทธรณ์คำสั่งที่ศาลใด?
                ยื่นได้ที่ศาลชั้นต้ตที่มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวหรือที่สาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค แล้วแต่กรณี
22.การอ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคจะอ่านที่ศาลใด?
                เมื่อศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคทำคำสั่งเสร็จแล้วจะส่งคำสั่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้อุทธรณ์คำสั่งทราบโดยเร็ว
23.หากศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคยังยืนไม่อนุญาตให้ประกันตัวอีกจะทำอย่างไรต่อไปได้บ้าง?
                ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภารมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น  กล่าวคือ  เห็นด้วยกับคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัวหรือจำเลยในระหว่างสอบสวนหรือในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น คำสั่งศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคดังกล่าวนั้นเป็นที่สุด  ผู้ขอประกันไม่สามารถฏีกาโต้แย้งคำสั่งศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคดังกล่าวต่อไปยังศาลฏีกา  อย่างไรก็ตามผู้ขอประกันมีสิทธิยื่นคำร้องขอประกันตัวได้อีกโดยเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่ศาลชั้นต้น
24.การขอประกันตัวในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคทำอย่างไร?
                หลักจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ไม่ว่าศาลชั้นต้นจะพิพากษาลงโทรประหารชีวิต  จำคุก  กักขังหรือควบคุมตัวไว้เพื่อฝึกอบรมในสถานฝึกอบรม ยกฟ้องโจทก์แต่ให้ขังจำเลยไว้ในระหว่างอุทธรณ์  หรือลงโทษปรับแต่จำเลยไม่ชำระค่าปรับจึงต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ  กรณีเหล่านี้ย่อมยื่นคำร้องของประกันตัวในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้
                24.1 ใครบ้างมีสิทธิยื่นคำร้องของประกันตัวชั้นอุทธรณ์?
                ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอประกันตัวชั้นอุทธรณ์ คือ บุคคลที่มีสิทธิยื่นคำร้องประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นเอง  ซึ่งได้แก่
                       24.1.1 จำเลย
                       24.1.2 ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น บุพการี ผู้สืบสันดาน  สามี ภริยา  ญาติพี่นต้อง  ผู้บังคับบังชา  นายจ้าง  บุคคลที่เกี่ยวพันโดยทางสมรส  บุคคลที่ศาลเห็นว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนเป็นญาติที่นอ้งหรือมีความสัมพันธ์ในทางอื่นที่ศาลเห็นสมควรให้ประกันได้ หรือนิติบุคคล เช่น บริษัท  ห้างหุ้นส่วนจำกัด) สำหรับกรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นกรรมการ  ผู้แทน  ตัวแทน  หุ้นส่วน  พนักงาน หรือลูกจ้างของนิติบุคคลนั้น
                24.2 ยื่นคำร้องขอประกันตัวชั้นอุทธรณ์ที่ศาลใด?
                       24.2.1 ในกรณีที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาแล้ว แม้ยังไม่มีการยื่นอุทธรณ์ หรือมีการยื่นอุทธรณ์แล้วแต่ยังไม่ได้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคก็ตาม  ให้ยื่นคำร้องขอประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดีนั้น  ในกรณีนี้หากศาลชั้นต้นเห็นสมควรอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์  ศาลชั้นต้น มีอำนาจมีอำนาจสั่งอนุญาตได้เลย  แต่ถ้าศาลชั้นต้นเห็นว่าไม่สมควรอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์ ปกติศาลชั้นต้นจะรีบส่งคำร้องพร้อมสำนวนคดีไปให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคทางโทรสารเพื่อพิจารณาสั่งต่อไป  ศาลชั้นต้นจะสั่งไม่อนุญาตเสียเองไม่ได้ ถ้าศาลชั้นต้นเผลอสั่งไม่อนุญาต  ผู้มีสิทธิเผลอสั่งไม่อนุญาต ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอย่อมอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคเพื่อให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วมีคำสั่งใหม่ให้ถูกต้องได้
                       24.2.2 หากศาลชั้นต้นส่งสำนวนคดีไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคแล้ว จะยื่นที่ศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดรนั้น หรือจะยื่นโดยตรงที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคก็ได้  ในกรณีที่ยื่นที่ศาลชั้นต้น  ศาลชั้นต้นจะรีบส่งคำร้องไปยังศลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคเพื่อพิจารณาสั่งต่อไป
                24.3 ยื่นได้ตั้งแต่เมื่อใดและยื่นได้กี่ครั้ง?
                ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องาขอประกันตัวในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคจะยื่นเมื่อใดก็ได้  ตราบใดที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคยังไม่มีคำพิพากษา  และกี่ครั้งก็ได้ตราบใดที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคยังไม่มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคแต่การยื่นครั้งใหม่ควรมีเหตุผลอันสมควรที่จะทำให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมด้วย
                24.4 การอ่รนคำสั่งศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคจะอ่านที่ศาลใด?
                เมื่อศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรภาคทำคำสั่งเสร็จแล้วจะส่งคำสั่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งให้ผู้อุทธรณ์คำสั่งทราบ  ศาลชั้นต้นจะแจ้งให้ผู้ต้องหารือจำเลยและผู้ขอประกันทราบโดยเร็ว
                ทั้งนี้  ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคอาจมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคโดยให้ผู้ขอประกันวางหลักประกันเพิ่มจากที่เสนอมาก็ได้
                24.5 หากศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างพิจารณาของสาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค  ผู้ขอประกันมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคต่อไปยังศาลฏีกาได้
25.นอกจากคำร้องขอประกันตัวแล้ว  ผู้ขอประกันสามารถยื่นคำร้องอื่นๆ  เกี่ยวกับการขอประกันตัวได้อีกหรือไม่?
                นอกจากคำร้องตามข้อ 24 แล้ว จำเลยหรือผู้ขอประกันอาจยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคมีคำสั่งในกรณีอื่นๆ เช่น  ในกรณีที่พฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป  จำเลยอาจขอลดวงเงินประกันในระหว่างอุทธรณ์หรือผู้ขอประกันยื่นคำร้องว่าไม่ประสงค์จะประกันตัวต่อและขอหลักทรัพย์คืน เป็นต้น
26.การอุทธรณ์คำสั่งปรับผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันทำได้อย่างไร?
                ในกรณีที่มีการผิดสัญญาประกันต่อศาล  เมื่อศาลชั้นต้นสั่งประการใดแล้ว ผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นนั้น โดยยื่นอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน นับแต่วันทราบคำสั่งและต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค  การอุทธรณ์ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมและไม่ต้องห้ามเรื่องทุนทรัพย์  คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคเป็นที่สุดจะฏีกาอีกไม่ได้
27.การขอประกันตัวในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาทำอย่างไร?
                ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษประหารชีวิต  จำคุก  กักขัง  ฝึกอบรมในสถานพินิจฯ  หรือขังไว้ระหว่างฎีกา  หรือจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ  ย่อมยื่นคำร้องขอประกันตัวในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้
                27.1 ใครบ้างมีสิทธิยื่นคำร้องขอประกันตัวชั้นฎีกา?
                ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอประกันตัว คือ บุคคลที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นเอง ซึ่งได้แก่
                       27.1.1 จำเลย
                       27.1.2 ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น บุพการี  ผู้สืบสันดาน  สามี  ภริยา  ญาติพี่น้อง  ผู้บังคับบัญชา  นายจ้าง  บุคคลที่เกี่ยวกันโดยทางสมรส  บุคคลที่ศาลเห็นว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนเป็นญาติพี่น้องหรือมีความสัมพันธ์ในทางอื่นที่ศาลเห็นสมควรให้ประกันได้  หรือนิติบุคคล  (เช่น  บริษัท  ห้างหุ้นส่วนจำกัด) สำหรับกรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นกรรมการ  ผู้แทน  ตัวแทน  หุ้นส่วน  พนักงานหรือลูกจ้างของนิติบุคคลนั้น
                27.2 ยื่นคำร้องของประกันตัวชั้นฎีกาที่ศาลใด?
                       27.2.1 ในกรณีที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคแล้ว  แม้ยังไม่มีการยื่นฎีกา หรือยื่นฎีกาแล้วแต่ยังไม่ได้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา  ให้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดีนั้น      
       27.2.2 ในกรณีที่ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปศาลฎีกาแล้วจะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดีนั้น  หรือจะยื่นต่อศาลฎีกาก็ได้ ถ้ายื่นต่อศาลชั้นต้น  ศาลชั้นต้นจะส่งคำร้องไปยังศาลฎีกา
                27.3 ศาลใดเป็นผู้พิจารณาคำร้อง?
                ในกรณียังไม่มีการยื่นฎีกาหรือยื่นฎีกาแล้ว แต่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้ส่งสำนวนไปศาลฎีกา  ถ้าศาลชั้นต้นเห็นสมควรให้ประกันตัว ศาลชั้นต้นจะสั่งอนุญาต  มิฉะนั้นศาลชั้นต้นจะส่งคำร้องพร้อมสำนวนไปให้ศาลฎีกาพิจารณาสั่ง
                27.4 กรณีศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ประกันตัว  ผู้ขอประกันอาจยื่นขอประกันตัวอีกได้โดยเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่ศาลชั้นต้นได้ กรณีอื่นๆ มีวิธีปฏิบัติเช่นเดียวกับชั้นอุทธรณ์
28.หน้าที่ของผู้ขอประกันมีอย่างไรบ้าง?
                ผู้ขอประกันต้องส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาลตามนัดหรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นส่งแทนก็ได้โดยขอแบบฟอร์มได้ที่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์
                หากผู้ต้องหาหรือจำเลยมาศาลแต่ผู้ขอประกันไม่มาศาลไม่ถือว่าผิดสัญญาประกัน  แต่ถือว่ผู้ขอประกันทราบคำสั่งของศาลและวันนัดส่งตัวคราวต่อไปแล้ว
                กรณีศาลอนุญาตให้ประกันโดยมีเงื่อนไข  เช่น  ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน หรือเจ้าหน้าที่ศาลหรือห้ามออกนอราชอาณาจักร  ผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้ขอประกันก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว
29.กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนี ผู้ขอประกันมีหน้าที่อย่างไรบ้าง?
                กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยหนีหรือจะหลบหนี ผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันอาจขอให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุดจับผู้ต้องหาหรือจำเลยหรือถ้าไม่อาจขอความช่วยเหลือได้ก็มีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นได้เอง  แล้วส่งไปยังพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุด
                กรณีไม่สามารถส่งตัวผู้ต้องหหรือจำเลยโดยไม่มีเหตุสมควร ถือว่าผิดสัญญาประกัน  ศาลจะสั่งปรับผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันและยึดหลักประกันขายทอดตลอด  หากผู้ขอประกันไม่ชำระค่าปรับ  เมื่อศาลสั่งปรับ  ผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันแล้ว  ผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันสามารถนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาส่งศาลได้โดยเร็ว  ศาลจะลดค่าปรับลงให้ตามสมควร
30.การถอนประกันต่อศาลต้องทำอย่างไร?
                ผู้ขอประกันอาจถอนสัญญาประกันหรือขอถอนหลักประกันต่อศาลได้เสมอ  โดยต้องส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยคืนต่อศาลเมื่อศาลอนุญาตความรับผิดชอบตามสัญญาประกันเป็นอันสิ้นสุดลง
31.การขอรับหลักทรัพย์หรือเงินสดคืนจากศาลต้องปฏิบัติอย่างไร?
                31.1 ในกรณีของศาลอาญา ศาลอาญาธนบุรี  ศาลอาญากรุงเทพใต้  ศาลจังหวัดและศาลแขวง  และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
                เมื่อคดีถึงที่สุดหรือศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนประกัน  หรือสัญญาประกันสิ้นสุดลงด้วยเหตุอื่น  ความรับผิดตามสัญญาประกันสิ้นสุดลง ผู้ขอประกันสามารถขอรับหลักประกันคืนได้ทันทีโดยยื่นคำร้องต่อศาลและแนบหลักฐานคือ ใบรับหลักฐาน  และใบรับเงินที่ศาลออกให้เมื่อครั้งยื่นของประกันตัว  หากใบรับหลักฐานหรือใบรับเงินสูญหายต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและนำใบรับแจ้งความมาแสดงต่อศาล  โดยปกติแล้วผู้ขอประกันจะต้องยื่นคำร้องด้วยตนเอง หากไม่สามารถมารับได้ด้วยตนเอง สามารถมอบฉันทะให้ผู้อื่นมารับหลักทรัพย์หรือเงินทดแทนได้  โดยใบมอบฉันทะขอได้ที่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของศาล
                31.2 ในกรณีของศาลเยาวชนและครอบครัวและศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว                
                        31.2.1 กรณีประกันในชั้นสถานพินิจฯ
                         การขอถอนหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกันคืน เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหยื่นแถลงขอถอนหลักทรัพย์คืนต่อศาลเมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนหลักทรัพย์คืนได้ที่สถานพินิจฯ                                เอกสารที่ต้องยื่นต่อสถานพินิจฯ  ในการขอถอนหลักทรัพย์คืน  ประกอบด้วยหนังสือจากผู้อำนวยการสำนักงานหรือสำนักอำนวยการประจำศาลเยาชนและครอบครัวแจ้งผู้อำนวยการสถานพินิจฯ  อนุญาตให้ถอนหลักทรัพย์คืน  ใบเสร็จรับเงินที่ได้รับในวันประกันตัวชั้นสถานพินิจฯ  สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขอประกัน        
                        31.2.2 กรณียื่นหลักประกันในชั้นศาล
                        การขอรับหลักทรัพย์หรือเงินสดคืนจากศาล ต้องปฏิบัติ ดังนี้.-                            
                        เมื่อคดีถึงที่สุดหรือศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนประกันหรือสัญญาประกันสิ้นสุดลงด้วยเหตื่นความรับผิดตามสัญญาประกันสิ้นสุดลง  ผู้ขอประกันสามารถขอรับหลักประกันคืนได้ทันที โดยยื่นคำร้องต่อศาลและแนบหลักฐานคือ ใบรับหลักฐาน และใบรับเงิน  ที่ศาลออกให้เมื่อครั้งยืท่นขอประกันตัว หากใบรับหลักฐานหรือใบรับเงินสูญหายต้องแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและนำใบรับแจ้งความมาแสดงต่อศาล  โดยปกติแล้ว ผู้ขอประกันจะต้องยื่นคำร้องด้วยตนเอง  หากไม่สามารถมารับได้ด้วยตนเอง  สามารถมอบฉันทะให้ผู้อื่นมารับหลักทรัพย์หรือเงินสดแทนได้  โดยใบมอบฉันทะขอได้ที่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพัน์ของศาล

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น

Close Menu