Ad Code

ข้อควรรู้ก่อนไปแจ้งความ


เมื่อมีปัญหาถูกรังแกเมื่อไหร่ ก็มักไปแจ้งความ แต่เอะอะจะไปแจ้งความไว้ก่อนไม่ได้ เพราะตำรวจอาจไม่รับเรื่องไว้เพราะสถานีตำรวจไม่ใช่ศูนย์กลางบำบัดความเดือดร้อนทุกเรื่อง

 การแจ้งความก็ต้องมีเป้าหมายเพื่อให้ตำรวจดำเนินการต่อผู้กระทำความผิดทางอาญา เป็นต้นว่า ถูกลักทรัพย์ บ้านถูกงัด ถูกทำร้าย หรือถูกโกงเสียเงินเสียทองไป ตำรวจก็จะทำการสอบสวนหรือสืบสวน แล้วก็จัดการกับคนกระทำหรือสงสัยว่ากระทำความผิดนั้นให้กับเรา


 การแจ้งความจึงไม่จำเป็นว่าเราจะรู้กฎหมายลึกว่า เป็นความผิดข้อหาอะไร ตำรวจจะปรับบทกฎหมายให้เบ็ดเสร็จ คนแจ้งเพียงแต่ต้องรู้ว่าเป็นเรื่องทางอาญา ไม่ใช่เรื่องทางแพ่ง

แล้วจะรู้ได้อย่างไรในเมื่อไม่ได้จบกฎหมายมา เอาเป็นว่าถ้าเข้าใจในเบื้องต้นได้ว่าการที่ได้รับความเสียหายนี้น่าจะมีความผิดทางอาญา ก็ไปหาตำรวจแล้วแจ้งความได้เลย

 การแจ้งความตามปกติจะต้องเป็น “ผู้เสียหาย” หากธุระไม่ใช่จะไปแจ้งความก็สามารถทำได้  โดยกฎหมายใช้คำว่า “กล่าวโทษ”

 แบบนี้ก็คือ เมื่อเราประสบเหตุการณ์อันเกิดจากการกระทำอันเป็นความผิดแล้ว ก็ต้องแจ้งให้ตำรวจทราบ เช่น มีการฆ่ากันตาย มีการปล้นร้านทอง มีคนโดดจากคอนโดชั้น 20 ลงมา เป็นต้น

 ส่วนการแจ้งความที่เราคุ้นเคย กฎหมายเรียกว่า “ร้องทุกข์” ตำรวจก็จะฟังว่าสิ่งที่คุณกำลังร้องนั้นมันเป็นทุกข์ในเรื่องทางอาญาหรือไม่ และคุณคือคนที่เป็นทุกข์หรือไม่

 นอกจากตัวผู้เสียหายที่ร้องทุกข์ได้แล้ว พ่อแม่ ลูก หรือคู่สมรส ก็สามารถร้องทุกข์แทนได้เฉพาะในกรณีที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายบาดเจ็บจนไม่สามารถไปแจ้งความเองได้ หรือไม่อยากไปบากหน้าหรือเสียเวลาขึ้นโรงพัก ก็ไม่ต้องไปเองก็ได้ สามารถมอบอำนาจให้คนอื่นไปร้องทุกข์แทนได้เหมือนกัน

 การแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเป็นขั้นตอนที่จะให้ตำรวจดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด อย่างที่ว่าไว้ เราไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อหาก็ได้ เล่าเรื่องเล่าราวให้ตำรวจฟังก็พอ แต่ก็ไม่ต้องระบุตัวผู้กระทำความผิดก็ได้หากไม่แน่ใจว่าใครทำ

 มีคนโรคจิตโทรมาบ้าเซ็กส์ใส่ หรือมีคนโทรมาขู่จะทำร้าย ฟังเสียงคล้ายใครแต่ไม่รู้ใช่หรือไม่ก็ร้องทุกข์แจ้งความไปว่าในระหว่างนี้มีเรื่องพิพาทบาดหมางอยู่กับใครหรือไม่อย่างไร ก็ทำได้ไม่เสี่ยงต่อการถูกเล่นงานกลับเพราะเป็นการให้ข้อมูลตำรวจ

 ถ้าเราเข้าใจและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าคนนี้ที่ทำผิดต่อเราก็บอกตำรวจเขาไปได้ แต่ถ้าไม่แน่ใจเท่าไหร่แต่เหมาเอาเองส่งเดช ก็จะเป็นเหตุให้คนคนนั้นเอาเรื่องกลับเราได้ในข้อหาแจ้งความเท็จ  

 ทีนี้ เราเองอาจต้องการให้ตำรวจช่วยเหลือเราในกรณีอื่นที่ไม่ได้เป็นความผิดทางอาญา ก็จะเป็นการแจ้งความที่มิใช่เพื่อการเอาโทษเอาความกับใคร

 ของหายไม่รู้อยู่ไหน จะไปออกบัตรใหม่เพราะทำบัตรประชาชนหาย หรือโฉนดไม่รู้อยู่ไหนจะโอนขายที่ก็ทำไม่ได้ สามารถแจ้งความของหายได้ ตำรวจก็จะลงบันทึกให้แล้วนำหลักฐานการแจ้งความของหายไปแสดงต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อออกเอกสารใหม่แทน

 เราอาจต้องการหลักฐานกันตัวเองไว้ก่อน เช่น อดีตภรรยาไม่ยอมส่งมอบลูกให้ตามสัญญาหย่า จึงมาแจ้งความเป็นหลักฐานไว้ หรือถูกแม่สามีขับไล่ออกไปจากบ้านไม่ได้ทอดทิ้งสามีออกมา จึงมาแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ตำรวจก็จะทำการบันทึกไว้ให้ ทำได้เหมือนกัน

ก่อนไปแจ้งความต้องทำอะไรบ้าง
คำแนะนำในการไปติดต่อสถานีตำรวจ
    เพื่อความสะดวกรวดเร็วและถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ
เมื่อท่านไปติดต่อที่สถานีตำรวจ ท่านควรเตรียมเอกสารต่างๆ ที่จำเป็นติดตัวไปด้วยคือ
1. บัตรประจำตัวประชาชน หรือ ใบแทนฯ หรือ
2. บัตรประจำตัวข้าราชการ หรือ
3. ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือ
4. หนังสือเดินทาง (PASSPORT) สำหรับชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาภายในประเทศ
5. สำเนาทะเบียนบ้าน
6. ในกรณีที่ท่านจะไปร้องทุกข์ (แจ้งความ) โดยเป็นตัวแทนของผู้อื่นให้นำ หลักฐานต่างๆ ดังนี้ติดตัวไปด้วย
  6.1 ใบสำคัญแสดงการเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์
  6.2 ใบสำคัญแสดงการเป็นผู้อนุบาลของผู้ไร้ความสามารถ (ตามคำสั่งศาล)
  6.3 ในกรณีที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้
 ให้ท่านนำหลักฐานซึ่งแสดงว่าท่านเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานหรือสามีภรรยา (ซึ่งได้จดทะเบียนบ้าน, สูติบัตร,ใบทะเบียนสมรส ฯลฯ) มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ
  6.4 ใบสำคัญแสดงการอนุญาตของสามีและภรรยาแล้วแต่กรณี ให้ร้องทุกข์แทนหรือเป็นตัวแทนโดยสมบูรณ์
  6.5 ในกรณีที่เป็นผู้แทนของนิติบุคคลให้นำ
(1) หนังสือมอบอำนาจของนิติบุคคลเป็นหลักฐานทั้งติดอากรแสดมป์ 5 บาท
(2) หนังสือรับรองนิติบุคคลนั้นของกระทรวงพาณิชย์


สรุปข้อควรจำ

ลงบันทึกประจำวัน  คือ การลงบันทึกแล้วจบ
แจ้งไว้เป็นหลักฐาน  คือ การลงบันทึกแล้วจบ
ขอดำเนินคดี คือ การแจ้งความเพื่อให้ตำรวจดำเนินคดี




แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น

Close Menu